วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ผงะเบี้ยวหนี้รถพุ่งล้านคัน 
กลุ่มวัยรุ่นสัดส่วนสูงปรี๊ด
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่าหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 77.8% ของจีดีพี โดยในไตรมาส 3 ปี 61 เติบโตสูงถึง 5.9% เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 ปี 60 ภายใต้เศรษฐกิจขยายตัว 4% ส่วนใหญ่หนี้ที่พบเป็นกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะซื้อมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเชื่อว่าสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้จะมากกว่าปี 61 ที่ปิดยอดสินเชื่อรถยนต์ 1.56 ล้านสัญญา แม้จะน้อยกว่าปีที่มีโครงการรถคันแรกมียอดปล่อยกู้ 1.9 ล้านสัญญา แต่ถือว่าอยู่ระดับสูง และจากข้อมูลพบหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนเป็นต้นไปของสินเชื่อรถยนต์มี 1 ล้านคัน กว่า 270,000 ล้านบาท เป็น กลุ่มเจนเอ็กซ์และเจนวายถึง 850,000 คัน หรือกว่า 230,000 ล้านบาท
ปัดฝุ่นเอฟทีเอ'ไทย-อียู'เดินหน้าเชื่อมค้า-ลงทุน 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้กรมฯ เตรียมข้อมูลที่จะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และ ไทยสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เนื่องจากเอกชนทั้งสองฝ่ายรวมถึงผู้บริหารทั้งอียูและเอฟตาต้องการให้เกิดการเจรจาให้เร็วที่สุด เพราะจะช่วยขยายการค้า การลงทุน ให้มากขึ้นดังนั้นมั่นใจว่าการเจรจาน่าจะมีความราบรื่น เพราะก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายก็มีการเจรจาเอฟทีเอในระดับหนึ่งแล้ว
ปิ๊งดันท่องเที่ยวพ่วงขายสินค้า
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ ททท.เตรียมลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาการตลาดท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทั้งด้านการดูแลในมิติการค้า และการท่องเที่ยว เช่น การจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในต่างประเทศร่วมกันตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบนโยบายให้กับ ททท. หาทางร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาทางพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกัน
ลุ้นการเมืองช่วยขับเคลื่อน อุตสาหกรรมไทยสู่เป้าหมาย
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ติดตามและวิเคราะห์นโยบายการหาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองพบว่าทุกพรรคมีแนวนโยบายที่ดีแตกต่างกันไป โดยพรรคการเมืองหลัก ส่วนใหญ่มีนโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของภาคเอกชนตอบโจทย์ความต้องการนักลงทุน ทั้งภายใน และภายนอกประเทศได้ เช่น การใช้เทคโนโลยียกระดับขีดความสามารถแข่งขันให้สูงขึ้น, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น, การปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่จำเป็น, การปฏิรูปบทบาทภาครัฐให้เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจภาคเอกชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น