วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 ก.ค. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน
โมบายแบงกิ้งไล่บี้ตู้เอทีเอ็ม 
นิยมถอน-โอนแทน/ยอดใช้วูบ ซ้ำรอยเลิกเข้าสาขาธนาคาร
กสิกรไทยเผยประชาชนหันลดถอนเงินสด-โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ซ้ำรอยลดเข้าสาขาแบงก์ คาดปีนี้ติดลบเพิ่มจาก 2-3% เป็น 10% โดยหันใช้โอนเงินดิจิทัลและสแกนใช้จ่ายมากขึ้น โตถึง 150% และยอดสมัครพร้อมเพย์ต่อเดือนสูงกว่า 5 แสนราย
สกัดสินค้าห่วยทะลักไทย ดันติดร่วม 'มอก.-เบอร์ 5' 
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมให้นโยบายสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดูแลผู้บริโภคให้ใช้สินค้าได้มาตรฐานมากขึ้น เพราะขณะนี้มีสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาขายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย ซึ่ง สมอ.ต้องเน้นดูแลกลุ่มมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับ 112 มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่พบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายประเภทติดเครื่องหมายแอบๆ ไม่ค่อยเห็นเด่นชัด เบื้องต้นอาจหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเครื่องหมาย มอก.ร่วมใส่ไว้ในฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
หนุนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ 
สนค.ชูไทยฮับ 'ชีวภาพ-บริการ' สนองนโยบายช่วยเกษตรกร
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนค.อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ร่วมกับภาคเอกชนตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการไว้ นำร่อง 2 ด้านก่อนคือ อุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (ไบโอฮับ) และภาคบริการ สำหรับไบโอฮับตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำไบโอฮับแบบครบวงจร เป็นทั้งผู้นำด้านการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอาหารโลก ทั้งผลิตและแปรรูปจากสมุนไพรและพืชต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์ความงาม ยา บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากมันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนี้จะเปิดตลาดสินค้าใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์จากแมลง ที่ไทยมีหลากหลายพันธุ์ที่กินได้ คนไทยถ้าอยากจะขยายตลาด นอกจากจะเลี้ยงเองแล้วยังต้องนำมาแปรรูปให้ได้มูลค่ามากขึ้น อย่างทำเป็นผงแมลง หรือนำผงแมลงมาทำไส้กรอกหรือขนมขบเคี้ยว เป็นต้น โดยหลายประเทศกำลังเป็นที่นิยม
อีวอลเลทโตเท่าตัว เทปาลุยดึงพันธมิตร
นายภราดร วิชยภิญโญ ประธานสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย (เทปา) เปิดเผยว่า เทปา เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ให้บริการการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) จำนวน 19 ราย จากทั้งฟินเทค ผู้ให้บริการระบบชำระเงิน ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลท) และธุรกิจค้าปลีก อาทิ แรบบิท ไลน์เพย์ เอ็มเพย์ ทรูมันนี่ ไทยสมาร์ทการ์ด เป็นต้น โดยเทปาคล้ายกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่อยากช่วยให้ลูกค้าและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและง่ายขึ้น ทั้งนี้ จะช่วยประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้กฎเกณฑ์กำกับดูแลเหมาะสม กับลักษณะของธุรกิจสมาชิก รวมทั้งเป็นตัวกลางการลงทะเบียนอีวอลเลทไอดีพร้อมเพย์ ทำให้ผู้ให้บริการอีวอลเลทสามารถใช้รหัสไอดีของอีวอลเลทโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ เหมือนหมายเลขโทรศัพท์หรือบัตรประชาชน ล่าสุด เทปาถือหุ้นในบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น