วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 10 มี.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ข่าวสด 
ปิดดีล 3 แสนล้าน-'ซีพี' ซิวคืน 'เทสโก้'
บริหารทั้งไทยและมาเลย์-เพิ่มช่องทางจำหน่ายเพียบ
'ซีพีเอฟ' ผนึกกำลัง 'ซีพีออลล์' ทุ่ม 3 แสนล้าน ซิว 'เทสโก้โลตัส' ในไทยและมาเลเซีย โดยแบ่งกันถือหุ้น ประธานซีพีเอฟเผยต่อยอดช่องทางการขายสินค้า เผยก่อนหน้านี้เครือช้างและเซ็นทรัล สนใจร่วมชิงเทสโก้เช่นกัน แต่สุดท้ายกลับมาอยู่ในมือซีพีอีกครั้ง
เชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดอีก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนก.พ. ว่าผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาหนี้สินของประชาชน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยหรือ TCC-CI ลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 27 เดือน หรือ 9 ไตรมาส อยู่ที่ระดับ 44.9 ลงจากเดือนม.ค.2563 ซึ่งอยู่ระดับ 45.4
ศุภาลัยเปิดทาวน์โฮมใหม่
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 2 เดือนแรกของปี บริษัทมียอดขายใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ท่ามกลางภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่ยังซบเซาต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ส่วนลูกค้าที่เข้าชมโครงการลดลงประมาณ 15% จากปัญหาไวรัส
ถกโครงสร้าง 'สอศ.' ระดับภูมิภาค
ปรับปรุงระบบการบริหารให้ทั่วถึงรวดเร็ว
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. กล่าวกรณีที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.มีข้อสรุปในการแบ่งอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) คือ ศธจ.ดูภาพรวมการศึกษาทั้งจังหวัด ส่วนอำนาจในการดูแลบุคลากร ทั้งแต่งตั้ง โยกย้าย และการลงโทษทางวินัย ให้เป็นหน้าที่ของ สพท.ซึ่งเป็นต้นสังกัด ซึ่งมีข้อกังวลว่าเมื่อคืนอำนาจให้ สพท.ทั้งหมดอาจเกิดปัญหาเดิมคือทุจริต เรียกรับเงินเพื่อโยกย้ายตำแหน่ง ว่า การคืนอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ ดูแลเรื่องแต่งตั้ง โยกย้าย ที่ประชุมได้หารือประเด็นนี้อย่างรอบคอบ โดยขั้นตอนจากนี้ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
จุฬาฯ พัฒนาสอนผ่านออนไลน์ป้องกันโควิดระบาด
รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ มีความพร้อมในการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะสำคัญให้แก่นิสิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสังคมการทำงาน การใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีความห่วงใยในสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 2.5 และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อสวัสดิภาพของนิสิตเป็นอย่างมาก ทางคณะผู้บริหารจึงมีนโยบายให้คณาจารย์ผู้สอนจัดการสอนผ่านระบบออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว สอดรับมาตรการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจะร่วมกับ SkillLane ทยอยนำร่องเปิดบางรายวิชาการ ศึกษาทั่วไปให้นิสิตสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์ในเดือนมีนาคม 2563

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น