วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 04 มิ.ย. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน
ครึ่งหลังปี'62'อุตฯ-เกษตร'กุมขมับ 
ปัจจัยป่วนเพียบ/จีดีพีเหลือ 1.5% ชี้'เอลนิโญ-ลานิญา'ให้ประโยชน์
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังห่วงภาคอุตสาหกรรม-เกษตรแปรรูป ครึ่งหลังปี'62 ยังต้องเผชิญปัจจัยกดดันเพียบ ทั้งสงครามค้าโลก แห่ใช้มาตรการกีดกัน รวมถึงภาวะเอลนิโญ-ลานิญาทำอากาศป่วน แนะปรับตัวทันช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า-เกษตรอาหาร
เร่งเครื่องดันไทย'ฮับฮาลาล' พณ.ปั้นเถ้าแก่ใหม่เจาะโลก 
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยส่งออกติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกภายในปี 2563 นั้น กรมรับนโยบายโดยจัดทำโครงการและกิจกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 1.การส่งเสริมการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมาย ผ่านหนุนเข้างานแสดงสินค้าและจัดคณะเยือนประเทศเป้าหมาย 2.สนับสนุนด้านข้อมูลการตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่สากลและการพัฒนา ผู้ประกอบการ เช่น จัดโครงการ SMART HALAL สู่ตลาดเป้าหมาย 3.สร้างภาพลักษณ์สินค้าและการบริการฮาลาล เช่น การมอบรางวัล Prime Minister's Export Award ประเภท Best Halal
ปัจจัยรุมเร้า'ราคาอ้อย' 
ส่อแววไม่ถึง700บ./ตัน หวั่นดิ่งยาวส่งออกยาก
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูผลิตใหม่ (ฤดูการผลิต 2562/63) ว่า คณะกรรมการอ้อย (กอ.) ได้ทำการประเมินผลผลิตอ้อยในฤดูหีบใหม่ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้ คาดอยู่ที่ 119 ล้านตันอ้อย ลดลงจากฤดหีบปี 2561/62 ที่ได้ปิดหีบไปแล้ว ซึ่งมีผลผลิตอ้อยเข้าป้อนโรงงาน 55 แห่งรวม 130.97 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 14 ล้านตัน โดยปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตลดลงมาจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกคงตกต่ำต่อเนื่อง จนสะท้อนไปยังราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตใหม่ปี 2562/63 มีแนวโน้มต่ำกว่า 700 บาทต่อตัน ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม และบางส่วนลดพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นที่ราคาดีกว่า ประกอบกับบางพื้นที่เผชิญกับภาวะภัยแล้ง
ไฟเขียวใช้ไบโอแมตริกส์ ยืนยันตัวตนเริ่มไตรมาส 3 
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมอนุมัติให้มีการนำเทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตนโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอแมตริกส์) เพื่อใช้ยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เควายซี) สำหรับการทำธุรกรรมการเงินในไตรมาส 3/2562 นี้ หลังจากผ่านการทดสอบในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (แซนด์บ็อกซ์) ของ ธปท. โดยมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วม 10 แห่ง และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) อีก 2 แห่ง การทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ส่วนใหญ่ใช้การพิสูจน์ตัวตนโดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (เฟซ เรค็อกนิชั่น) และการสแกนลายนิ้วมือ (ฟิงเกอร์ปริ๊นท์ เรค็อกนิชั่น) ซึ่งไบโอแมตริกส์สามารถทำ อี-เควายซี ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลาไม่ต้องไปสาขา มีความปลอดภัยช่วยลดข้อผิดพลาดหากเทียบกับการใช้พนักงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น