วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 07 พ.ค. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน
เคาะ 1.2 หมื่นล.ประเคนรบ.ใหม่ 
'ศิริ'อนุมัติงบกองทุนอนุรักษฯปีงบ'63 สกัดใช้เงินแอบแฝงแทรกรายโครงการ
'ศิริ' เคาะ 1.2 หมื่นล้านกรอบเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานปีงบประมาณ 2563 ปิดทางงบนโยบายพรรคการเมือง 10%-ปรับเกลี่ยรายแผนแทน มั่นใจแก้ปมโดนโจมตีความไม่โปร่งใส สกัดงบพีอาร์แอบแฝง 'ประจิน' เคาะ 8 พ.ค.นี้
เครื่องสำอางดี๊ด๊า ผู้ชายแห่ใช้โต10% 
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอาง ว่าคาดการณ์มูลค่าส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องสำอางปีนี้จะเติบโตอย่างน้อย 10% จากปีที่ผ่านมามูลค่าอยู่ที่ 94,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2560 เพราะปัจจุบันผู้บริโภคให้ความใส่ใจต่อการดูแลผิวพรรณโดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มใหม่ คือผู้ชาย ที่ปริมาณการใช้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทยที่จะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสากลได้มากขึ้น
เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าเอฟทีเอไทย-ตุรกี หวังส่งออกขยายตัว-ทะลุ 1,300 ล้านเหรียญ 
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการเจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี รอบล่าสุดกลางเดือนเมษายน 2562 ว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติซึ่งเป็นแกนหลักของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ในระหว่างการเจรจา ตุรกียื่นข้อเสนอให้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เงื่อนไขการแปรสภาพอย่างเพียงพอในรูปแบบกฎเฉพาะรายสินค้า คือ สินค้าในแต่ละประเภทพิกัดศุลกากรย่อยจะปรากฏหลักเกณฑ์การพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้ากำกับไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งไทยรับที่จะนำกลับมาพิจารณาก่อนแจ้งท่าทีต่อตุรกีทราบต่อไป
อัญมณีตื่นรับกม.สหรัฐ 
เข้มวัตถุดิบ-หวั่นทุนนอกกม. แนะไทยใช้บล็อกเชนระบุพิกัด
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐเตรียมเข้มงวดกับธุรกิจเครื่องประดับมากขึ้น เบื้องต้นได้แจ้งกิจการและกลุ่มบริษัทธุรกิจเครื่องประดับในการประชุมที่นิวยอร์ก ให้ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรับรู้และเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่อัญมณี (เพชรหรือพลอยสี) แต่รวมถึงทองคำและโลหะมีค่าอื่นด้วย มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินการตามกฎหมายใหม่ของสหรัฐ ซึ่งยังไม่เปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าการค้าวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับของบางประเทศเป็นแหล่งทุนสำคัญในการสนับสนุนเหตุความขัดแย้งของกลุ่มนอกกฎหมาย โดยเฉพาะในอิหร่าน เวเนซุเอลา รวมถึงบางประเทศในทวีปแอฟริกา ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องการรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบและหรือชิ้นส่วนเครื่องประดับที่นำเข้าทุกรายการ แม้ภาคอุตฯของสหรัฐจะรู้ว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนทุกรายการในเครื่องประดับอย่างชัดเจนเป็นเรื่องยาก เพราะวัสดุหลายชิ้นผ่านการรีไซเคิล หรืออาจขายผ่านตลาดรองก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น