วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 11 ก.ย. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน
อสังหาฯต่ำ5ล.ถูกรีเจ็คหนัก40%
เอกชนหนีตายหันเจาะตลาด'บ้านหรู'แทน เผยQ2ยอดกู้โต4.4%ยันไม่ผ่อนเกณฑ์LTV
อสังหาฯต่ำกว่า 5 ล้าน ถูกแบงก์ปฏิเสธสินเชื่อหนักถึง 40% พร้อมปรับวิธีขายดึงกำลังซื้อเพิ่มสภาพคล่อง ด้านแบงก์ชาติยันยังไม่คลายเกณฑ์แอลทีวี เผยไตรมาส 2 สินเชื่อบ้านขยายตัวถึง 4.4%
'คลัง'ยันหยุดโอนเงิน 'เราไม่ทิ้งกัน'30ก.ย.นี้
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (มาตรการเราไม่ทิ้งกัน) เสร็จสิ้นแล้วและผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยาทั้งหมด 15.3 ล้านคน แต่คงเหลือผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยาบางส่วนที่กระทรวงการคลังไม่สามารถโอนเงินให้ได้ เนื่องจากเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับบัญชีรับเงิน เช่น ยังไม่มีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน หรือบัญชีปิด เป็นต้น โดยปัจจุบัน ยังโอนไม่สำเร็จประมาณ 56,000 คน ซึ่งกระทรวงจะโอนซ้ำต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะ รัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563
ธปท.แจงใช้ดบ.ธอร์กระทบจำกัด
แนะลูกค้าตราสารหนี้เร่งทำความเข้าใจ
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับมาใช้ดอกเบี้ยธอร์ (THOR: Thai Overnight Repurchase Rate) เพื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ แทนการใช้ THBFIX (ไทยบาทฟิก) หรือ Thai Baht Interest Rate Fixing ส่งผลกระทบวงจำกัดเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่และสัญญาอนุพันธ์เท่านั้น ซึ่งดอกเบี้ยธอร์เป็นการพัฒนาโดย ธปท.ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สะท้อนภาวะตลาดการเงินในประเทศและสอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงินของไทยมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการทำธุรกรรมจริงอ้างอิง THOR แล้ว ขณะที่ดอกเบี้ย LIBOR เดิมจะถูกยกเลิกใช้สิ้นปี 2564 ทำให้หลายประเทศพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่เช่นเดียวกับไทย ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องยุติการจัดทำและเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX และใช้ดอกเบี้ยธอร์ที่พัฒนาขึ้นมาใช้แทน
ผลสำรวจบริษัทในเอเชียแปซิฟิก ความต้องการสำนักงานยังไม่ลด
นายแอนโธนี เคาส์ ซีอีโอภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของเจแอลแอล เปิดเผยว่า ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร 200 ราย ที่ดูแลรับผิดชอบด้านสำนักงาน/สถานที่ประกอบการของบริษัทชั้นนำในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย จีน (รวมฮ่องกง) อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ยังคงมีความมั่นใจในธุรกิจ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และคาดด้วยว่าจะยังรักษาขนาดออฟฟิศและจำนวนสาขาสำนักงานไว้คงเดิม ผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าผู้บริหารเหล่านี้กำลังสร้างจินตนาการใหม่สำหรับสถานที่ทำงานในอนาคต โดยในแผนการลงทุนของบริษัทจะเน้นให้ความสำคัญกับพลานามัยและสุขภาวะที่ดีของพนักงาน และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ค้าชายแดน7ด.แรกวูบกว่า8% มาเลย์หดตัวมากสุดกว่า23%
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ช่วง มกราคม-กรกฎาคม ปี 2563 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 741,290 ล้านบาท ลดลง 8.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออก 428,810 ล้านบาท ลดลง 8.19% และการนำเข้า 312,480 ล้านบาท ลดลง 8.98% เกินดุลการค้า 116,330 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการส่งออกภาพรวมของประเทศที่ปรับตัวลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดด่านการค้า แต่ก็ถือว่าทิศทางการค้าเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่กรมได้ผลักดันและประสานงานให้มีการเปิดด่านการค้าได้เพิ่มมากขึ้น โดยการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) พบว่า มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มีมูลค่าการค้ารวม 130,920 ล้านบาท ลดลง 23.57% รองลงมาคือ สปป.ลาว มูลค่า 107,211 ล้านบาท ลดลง 7.79% เมียนมา มูลค่า 100,666 ล้านบาท ลดลง 13.64% และกัมพูชา มูลค่า 94,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.82%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น