วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 04 มิ.ย. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน
เอกชนดันไทยเข้า 'ซีพีทีพีพี'
หนุนเจรจาหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 10 มิ.ย.ขอมติกกร.ก่อนชง 'บิ๊กตู่'
สภาผู้ส่งออกถกสมาคมการค้าและกลุ่มอุตสาหกรรมหนุนไทยเข้าร่วมเจรจา 'ซีพีทีพีพี' หวังสร้างแรงกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเดินหน้านำผลประชุมหารือ กกร. 10 มิ.ย. ก่อนเสนอกระทรวงที่เกี่ยวข้องและนายกฯ
ธปท.ชูยาแก้หนี้ 'เลื่อนชำระ-ลดดอก'
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นโครงการแก้หนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ผลของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวถือว่าน่าพอใจ กล่าวคือ ไม่มีลูกหนี้ต้องออกจากโครงการแม้สักรายเดียว ด้วยเหตุว่าผ่อนชำระค่างวดไม่ไหว ในขณะที่ลูกหนี้ที่ชำระค่างวดเข้ามา โครงการได้ช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยให้ 2% เพื่อลดภาระในช่วงนี้ อีกทั้งแนวทางช่วยเหลือของโครงการมีกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นตัวอย่างที่สถาบันการเงินอาจนำไปประยุกต์ในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะต่อไปได้
ลุ้นเคาะช่วยไร่อ้อยหมื่นล.
ลั่นเสริมสภาพคล่องเกษตรกร สัปดาห์หน้าเสนอครม.ไฟเขียว
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/63 กรอบวงเงินรวม 10,231 ล้านบาทว่า เร็วสุดคาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เห็นชอบอัตราการจ่ายเงินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว และรอเพียงความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการนำเสนอกับ ครม.เท่านั้น ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ในระบบกว่า 200,000 รายและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบโควิด-19
พณ.โชว์ส่งออกอัญมณี 4 เดือน แห่ตุนทองคำทำยอดพุ่ง 350%
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยช่วง 4 เดือนของปี 2563 มีมูลค่า 8,147.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 114.84% คิดเป็นเงินบาท 252,714.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111.34% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกเหลือมูลค่า 1,774.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25.31% คิดเป็นเงินบาท 54,218.88 ล้านบาท ลดลง 27.65% เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศล็อกดาวน์ แม้บางประเทศเริ่มเปิดธุรกิจ แต่การทำค้าขายยังไม่สะดวก ขณะที่ผู้ซื้อชะลอการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ
'ทีเอ็มบี' มอง 3 เครื่องยนต์ศก.ดับ 'ร้านอาหาร-อสังหา' ฟื้นตัวช้าสุด
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า จากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจหลายประเภท การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป จึงต้องประเมินเป็นรายประเภท เพื่อหาว่ากลุ่มธุรกิจใดที่จะสามารถฟื้นตัวกลับมาก่อนหรือหลัง โดยประเมินจาก 4 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วน 17% ของจีดีพีรวม ซึ่งหากย้อนไปนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ยังไม่เคยเกิดการหดตัวของภาคการท่องเที่ยวมากเท่าปีนี้ โดยคาดว่าจะหดตัวที่ 45% 2.ภาคการส่งออก คิดเป็นสัดส่วน 54% ของจีดีพี คาดว่าจะหดตัวลง 14% และ 3.การนำเข้า คิดเป็นสัดส่วน 52% ของจีดีพี หดตัวลง 22% ส่วน 4.การบริโภคครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี หดตัวลง 4% แม้จะไม่มากเท่าช่วงที่เกิดวิกฤตครั้งก่อน แต่ก็หดตัวไม่แตกต่างกัน
แนะธุรกิจปรับตัว ดึงหุ่นยนต์แทนคน เพิ่มทักษะแรงงาน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุน และยุทธศาสตร์ชาติใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปี 2564 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมดซึ่งจะทำให้แรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานลดต่ำลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น