วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 พ.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 
สยามฯปรับแผนสู้โควิด
จัด 3 กลุ่มรับมือเปิดห้าง
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมศูนย์การค้าปี 63 นี้คาดว่ายอดขายลดลงถึง 50% จากมูลค่า 175,000 ล้านบาท ในปี 62 เนื่องจากได้รับผล กระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเกือบ 2 เดือน อีกทั้งหากกลับมาเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้เชื่อว่าช่วง 3 เดือนแรก จะมียอดขายกลับเข้ามาเพียง 30-40% เท่านั้น เพราะเป็นช่วงของการบริหารต้นทุน บริหารสภาพคล่องเพียงของร้านค้า เนื่องจากลูกค้ายังไม่กลับมาทั้งหมด และมาตรการเว้นระยะห่าง 5 ตร.ม. ต่อ 1 คน จนต้องปรับพื้นที่การบริการ นั่งรับประทานอาหารในร้านใหม่ทำให้ลูกค้าหายไปเกือบ 50% ส่วนค้าปลีกโดยรวมมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาทนั้น ยังคาดว่าเข้าสู่ภาวะปกติอีก 18 เดือนข้างหน้า
คนติดบ้านหลบไวรัสโควิด สั่งอาหารผ่าน 'ออนไลน์' พุ่ง
รายงานข่าวจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือน มี.ค. 63 พบว่าเกือบ 35% ของผู้บริโภคชาวไทยสั่งซื้ออาหารและเครื่องดื่มทางระบบออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย อายุ 19-38 ปี และเจนแซด อายุต่ำกว่า 19 ปี คาดว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในปี 63 จะเติบโต 19% คิดเป็นมูลค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเฉลี่ยเดือนละ 14,900 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ไม่มีโรคระบาดคาดว่าจะขยายตัว 9% ดังนั้น แม้เศรษฐกิจจะถดถอย แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ที่ขยายตัวสูงจะช่วยพยุงการบริโภคและเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤติได้ระดับหนึ่ง
เจนวายกลุ่มแรกพร้อมเที่ยว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยในการสัมมนาออนไลน์ เรื่องกลยุทธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยในสถานการณ์โควิด-19 ว่า หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงจนสามารถเปิดให้คนเดินทางท่องเที่ยวได้ ททท.มองว่า คนกลุ่มแรกที่พร้อมออกเดินทาง คือ กลุ่มคนเจเนอเรชั่นวาย หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 23-40 ปี ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน คนกลุ่มนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบคิดนอกกรอบ ชอบนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนบริการของตัวเองให้สอดคล้องกับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
เปิดแผลปตท.ขาดทุนพันล.
'อรรถพล' มั่นใจพลิกบวกแน่
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยภายหลังรับตำแหน่งวันแรกว่า เตรียมเข้ามาสานต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกและของไทย รวมถึงกระทบมาถึงกลุ่ม ปตท.ถือเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งจากดูสถานภาพองค์กร ขอให้มั่นใจว่า มีความแข็งแกร่ง โดยผลดำเนินการทั้งปีจะเป็นบวก แม้ว่าไตรมาส 1 จะขาดทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งแนวดำเนินการจะเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย จะมีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจอีกด้วย
'สมคิด' ถกทบทวนเศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในวันที่ 14 พ.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกับหน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ และกำหนดแผนประคองเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 63 หลังต้องเผชิญกับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สวนปาล์มรับเงิน รัฐช่วย 97 สตางค์
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 62-63 ได้ชดเชยผลปาล์มทะลายคุณภาพน้ำมันที่ 18% มีราคาอยู่ที่ กก. ละ 3.03 บาท ต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่ กก.ละ 4 บาท ทำให้ต้องชดเชยกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ กก. ละ 0.97 บาท และจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันที่ 15 พ.ค. 63 การจ่ายชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ได้จ่ายไปเพียง 2 งวด คือ งวดที่ 1 และ 2 จากกำหนดที่ต้องจ่ายทั้งหมด 8 งวด ทุก 45 วัน โดยงวดที่ 3-5 ไม่ได้จ่ายชดเชย เพราะราคาผลปาล์มสูงกว่าราคาประกันรายได้ แต่งวดที่ 6 กลับมาจ่ายอีกครั้ง หลังราคาตกต่ำ โดยผลการจ่ายชดเชยส่วนต่างงวดที่ 6 นี้ เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่าง 0.97 บาท คูณด้วย 25 ไร่ คูณ 363.25 กก. เท่ากับจะได้รับเงินส่วนต่าง 8,808.8125 บาท ส่วนตัวเลข 363.25 กก. หารมาจากจำนวนผลผลิตต่อไร่ที่กำหนดไว้ที่ 2,906 กก. ต่อไร่ และหารทั้งสิ้น 8 งวด"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น