วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 08 พ.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 
เท 2 แสนล้าน หนุนบสย.
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนวงเงิน 2 แสนล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปช่วยค้ำช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านโครงการพีจีเอส 9 เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รองรับแผนรีสตาร์ตธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หากวงเงิน 2 แสนล้านบาทไม่พอ พร้อมสนับสนุนให้ได้รับเพิ่มขึ้น นอกจากจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรีสตาร์ตธุรกิจแล้ว อยากให้เน้นช่วยธุรกิจเครือข่ายสตาร์ทอัพ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ออนไลน์ทางรอดยุคโควิด
เร่งขุดตัวตนสร้างรายได้ ขายผลไม้ในโซเชียลพุ่ง
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ พลิกโฉมธุรกิจเอสเอ็มอี : โอกาสใหม่ในยุคโควิด-19 ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่ถือเป็นทางรอดของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่มีประชาชนตกงานและถูกลดเงินเดือนจำนวนมาก แล้วผันตนเองไปสร้างโอกาสขายสินค้าออนไลน์ พร้อมกับแนะนำว่าผู้ประกอบการต้องค้นหาตัวตนว่ามีความถนัดหรือทักษะด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนรอบข้าง เช่น ถนัดเล่นกีตาร์ก็สามารถนำทักษะมาใช้สอนในออนไลน์ได้ รวมทั้งมองปัญหารอบตัวที่มีคนบ่นเยอะ ๆ นำกลับมาตั้งคำถามและสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์คนเหล่านั้น
เอกชนเสียงแตกร่วมซีพีทีพีพี
ตั้งทีมซื้อเวลารอเคาะจุดยืน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร. ประจำเดือน พ.ค. ว่า ได้หารือถึงจุดยืนของภาคเอกชนต่อการเข้าร่วมหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ซีพีทีพีพี ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต พบว่า มีการแสดงความเห็นหลากหลาย จึงหาข้อสรุปไม่ได้ กกร.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ให้มีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้ภาครัฐทราบจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้น
ยื่นกู้ฉุกเฉินวันแรกคึกคัก
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าบรรยากาศการเปิดให้ประชาชนยื่นกู้สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อลดผลกระทบจากโควิดรายละ 10,000 บาท ดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือนที่สาขาธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวันแรก 7 พ.ค. 63 เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีประชาชนเดินทางมาตามนัดหมายอย่างต่อเนื่อง ยอดล่าสุดทั้ง 2 ธนาคารมีผู้ยื่นกู้มาแล้ว 3.5 ล้านคน แบ่งเป็นของออมสิน 1.7 ล้านราย และ ธ.ก.ส. 1.8 ล้านราย และหลังจากนี้ยังเปิดให้ยื่นกู้ได้ต่อเนื่องจนกว่าจะถึงเป้าหมาย 4 ล้านราย
หุ้นไทยไตรมาส 2 กระอัก
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค.นี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวน เนื่องจากนักวิเคราะห์จะเริ่มปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 63 ลงอีกหลังจากรับทราบผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบเต็มที่จากโควิด-19 และการปิดเมืองจึงคาดว่ากระทบหนักที่สุดในผลประกอบการไตรมาสที่ 2 หลังจากตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน นักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรของตลาดปีนี้ไปแล้ว 27.4% มาอยู่ที่ 74.0 บาทต่อหุ้นและปี 64 ปรับลง 19.4% มาอยู่ที่ 89.1 บาทต่อหุ้น
แห่จดสิทธิบัตรต้านโควิด อุปกรณ์ป้องกัน-หุ่นยนต์
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า มีคนไทยและหน่วยงานในประเทศ แห่ยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 แล้ว 51 คำขอ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย เป็นต้น จำนวน 26 คำขอ, เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ จำนวน 18 คำขอ, สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ จำนวน 4 คำขอ และสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล 3 คำขอ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการตรวจสอบคำขอเหล่านี้ตามกระบวนการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น