วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 07 พ.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 
ร้านอาหารทรุดหนักรอบ 8 ปี
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ภาครัฐจะทยอยเปิดบางกิจการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปและยังมีความกังวลต่อโควิด-19 อยู่ ทำให้บรรยากาศของธุรกิจร้านอาหารยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งเศรษฐกิจไม่ดีและกำลังซื้อที่อ่อนแอ ยิ่งทำให้ธุรกิจร้านอาหารต่อจากนี้มีความท้าทายสูง โดยคาดว่าธุรกิจร้านอาหารในปี 63 จะมีมูลค่าเพียง 385,000-389,000 ล้านบาท จากปี 62 มีมูลค่า 431,000 ล้านบาทหรือติดลบ 9.7%-10.6% และถือเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 ปี
เปิด 14 กลุ่มเสี่ยงส่งออกโคม่า
รถยนต์-ยาง-มันอาการหนัก คาดออร์เดอร์เริ่มดีกลางปี 64
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ได้ประเมินสถานการณ์รายอุตสาหกรรมเป็น 3 กลุ่มถึงโอกาสในการฟื้นตัวในตลาดโลก เพื่อเสนอให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงิน เบื้องต้นพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วที่สุด หรือฟื้นตัวในลักษณะรูปตัววี เริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 63 มีด้วยกัน 6 กลุ่ม ประกอบด้วยอาหาร, เครื่องจักร, อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง (เฉพาะกลุ่มเวชภัณฑ์การแพทย์, และชิ้นส่วนยานยนต์) เนื่องจากกลุ่มคำสั่งซื้อต่อเนื่องและจะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการสินค้าในหลายๆ ตลาด
สคบ.ส่องเว็บค้าออนไลน์ แอบขายของนำเข้าผิดก.ม.
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าขณะนี้ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ร่วมมือตรวจสอบการขายสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือในเว็บไซต์ทั่วไป เพราะปัจจุบันมีผู้ลักลอบนำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาวางขายล่อใจผู้ซื้อจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมารัฐเองจะพยายามตรวจสอบแล้วแต่ก็ยังไม่หมด ดังนั้นในช่วงจากนี้ไปจึงขอให้ สคบ. ประสานงานกับกระทรวงดีอีเอส เข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้น
พิษโควิดสะเทือนตลาดหุ้น ไตรมาส 1 ไร้แววไล่ฮุบกิจการ
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยสถิติสำคัญในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ว่า ยังไม่พบการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อการครอบงำกิจการ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีเพียงคำเสนอซื้อเพื่อออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 บริษัท มูลค่าการซื้อขาย 33,683 ล้านบาท ขณะที่การเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) มี 7 บริษัท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 9 บริษัท และมีการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (พีพี) 2 บริษัท มูลค่าเสนอขายไอพีโอ อยู่ที่ 56,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 1,440 ล้านบาท และการเสนอขายครั้งต่อไป 11,552.36 ล้านบาท
ประกันแห้วคปภ.ลดแค่ค่าต๋ง
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. ได้พิจารณาข้อเสนอของสภาธุรกิจประกันภัยไทย โดยเห็นชอบให้ปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ลงครึ่งหนึ่งหรือ 50% ทุกรายการ จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.63 แต่ไม่เห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินสมทบ ที่บริษัทประกันต้องส่งให้คปภ. ตามที่สภาธุรกิจประกันภัยเสนอ
เอกชนได้ฤกษ์ถก 'ซีพีทีพีพี'
ตั้งทีมศึกษา 1 เดือนสรุปผล
รายงานข่าวจากคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกร. วันที่ 7 พ.ค.นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหอการค้าไทย จะนำประเด็นกรณีที่ ครม. ถอนวาระการเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ออกจากที่ประชุมไปหารือเพื่อให้ หอการค้า ส.อ.ท. และ สมาคมธนาคารไทย ศึกษาผลได้ผลเสีย หากผลศึกษาพบว่าประเทศได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ ภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุนรัฐบาลในการเจรจาสมาชิกซีพีทีพีพี แต่ถ้าผลเสียกับไทยมากกว่า เอกชนก็ไม่สนับสนุนเช่นกัน
สทบ.ผนึกคลังปั้นฐานราก
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า สทบ.ได้ร่วมมือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จัดทำแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการร่วมมือเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านตามนโยบายของรัฐบาล เข้ากับโครงการธนารักษ์ประชารัฐ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับประชาชนในระดับฐานรากได้มากขึ้น
ไทยเข้าอุตฯ 4.0 เร็วหลังหมดโควิด-19
นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ต่อไปหากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หมดไป เชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป โดยซื้อสินค้าไม่เน้นความหรูหรา หรือมีราคาแพง แต่หันมาซื้อสินค้าที่พอใช้ได้ ราคาเหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะขายดีมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคได้เรียนรู้การใช้ระบบไอที และการซื้อขายออนไลน์ในช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มไอที อุปกรณ์ไอโอที และกระแสดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น รุนแรงขึ้น ทำให้ไทยปฏิรูปไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เร็วขึ้น เป็นโอกาสดีของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวได้เร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น