วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 เม.ย. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 
ตั้ง 7 กก.จิกมาตรการรัฐ
ชี้เชื่อมั่นเอกชนทรุดหนัก
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ โควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมขึ้น 7 คณะ เพื่อช่วยเหลือสมาชิกและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด พร้อมกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงติดตามมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ออกมาแล้ว และกำหนดแนวทางการเยียวยาเพื่อเสนอต่อภาครัฐเพิ่มเติมด้วย
เดอะคอฟฟี่ฯปรับตัว เพิ่มแพ็กเกจแบบถุง
น.ส.ณญาดา วรรณวิไชย ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด เดอะ คอฟฟี่ คลับ ประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มเฉพาะชาและกาแฟในไทย ปี 62 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 7% ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 5 ปี ทำให้มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชาและกาแฟในไทยสูงถึง 23,720 ล้านบาท แบ่งตามสัดส่วน ร้านแฟรนไชส์ 21,579.2 ล้านบาท หรือ 90.9% ของยอดรวม และร้านแบรนด์อิสระ 2,148 ล้านบาท หรือ 9.1% ของยอดรวม และเชื่อว่าภายในปี 66 ตลาดเครื่องดื่มเฉพาะชาและกาแฟในไทยจะเติบโตสูงสุดที่ 9.5% และมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 32,280.9 ล้านบาท
ทีเอ็มบี-ธนชาตช่วยเพิ่ม
นายจเร เจียรธนะกานนท์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน โดยช่วยเหลือลูกค้าบัตรเครดิตทีเอ็มบีและบัตรเครดิตธนชาตที่มีผลกระทบโดยตรงมาตรการที่ 1 ลดดอกเบี้ย 12% และให้ผ่อนชำระยอดคงค้างนาน 48 เดือน ส่วนมาตรการที่ 2 พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 รอบบัญชี ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสมัครได้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง
แรงงานรถ 7.5 แสนคนระทึก
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ค่ายรถยนต์ต้องหยุดไลน์การผลิตรถยนต์ภายในประเทศเป็นการชั่วคราวจนถึง 30 เม.ย.นี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อไปถึง มิ.ย. 63 คาดว่า การผลิตรถยนต์จะลดลงประมาณ 30% หรือ เหลือประมาณ 1.4 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศ 700,000 คัน ส่งออก 700,000 คัน หรือหากยืดเยื้อถึง ก.ย. 63 จะลดลง 50% หรืออยู่ที่ 1 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 500,000 คัน ส่งออก 500,000 คัน จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้การผลิตรถยนต์ปีนี้ อยู่ที่ 2 ล้านคันแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1 ล้านคัน เพื่อส่งออก 1 ล้านคัน
ซอฟท์โลนออมสินเกลี้ยง
เอกชนกุมขมับแบงก์ไม่ให้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อ (นอนแบงก์) ไปปล่อยกู้ต่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและชาวบ้านโดยคิดดอกเบี้ยที่ 2% มียอดจองเต็มหมดแล้ว เช่นเดียวกับการปล่อยกู้ฉุกเฉินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ปล่อยกู้ให้แรงงานอิสระ และเกษตรกรรายละ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.1% วงเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ก็มียอดขอกู้เต็มเช่นกัน
สั่งลดเงินกองทุนอนุรักษ์ ช่วยอุ้มเศรษฐกิจฐานราก
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติปรับลดเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานลงเหลือ 5,600 ล้านบาท จากเดิมวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายการปรับลดดังกล่าวมาจากต้องการนำวงเงินดังกล่าวเปิดรับโครงการเพื่อใช้ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มการจ้างงาน เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล ประกอบกับคาดการณ์ว่าวงเงินที่มีอยู่เดิมจะอนุมัติโครงการที่ขอใช้เงิน ไม่ทันภายในปีงบประมาณ 63 ที่ผ่านมามีขั้นตอนดำเนินการและมาจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้เวลาพอสมควร
ที่ดินรถไฟฟ้าพุ่งกระฉูด
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 63 เท่ากับ 293.3 จุด เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยทำเลที่มีราคาเพิ่มมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่เป็นส่วนต่อขยาย หรือสายรถไฟฟ้าที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้
จี้คุมเข้มค่าบริการดิลิเวอรี่
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยผลสำรวจความพึงพอใจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อการใช้บริการจัดส่งสินค้าแบบดิลิเวอรี่ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 9-16 เม.ย. 63 โดยผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอแนะ โดยอยากให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการควบคุมค่าบริการอย่างเข้มงวดไม่เอาเปรียบผู้บริโภคในภาวะอย่างนี้ รวมทั้งอยากให้รักษาระยะห่างระหว่างผู้ส่งสินค้ากับผู้รับสินค้า เสนอแนะให้พนักงานพกน้ำยาทำความสะอาด หรือเจลแอลกอฮอล์ และทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งเมื่อส่งสินค้าเรียบร้อยแล้ว และสุดท้ายอยากให้มีการอบรมสร้างความเข้าใจและแนวทางการปฏิบัติต่อพนักงานก่อนปฏิบัติงานจริงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น