วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน 
'สุริยะ'โชว์ลงทุนพุ่ง7.4หมื่นล.
หนุนจ้างงานในนิคมฯอีกเพียบ ญี่ปุ่นยังครองแชมป์ตามด้วยจีน
'สุริยะ'ปลื้ม 3 ไตรมาส เอกชนแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม 163 ราย หนุนจ้างงานเพิ่ม 1.4 หมื่นคน มูลค่าลงทุนกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท ยันไทยเอื้อลงทุนได้เปรียบหลายประเทศในอาเซียน ชี้ญี่ปุ่นยังลงทุนมากสุด ตามด้วยจีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย และฮ่องกง
ชาวสวนโอดปาล์มทะลายตกต่ำ จี้ติดมิเตอร์วัดสต๊อก'โรงสกัด'
นายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคาปาล์มทะลายยังเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่าต้นทุนอย่างมากและเฉลี่ยประมาณกิโลกรัม (กก.) ละ 3.40 บาท ต่ำกว่าต้นทุนเพาะปลูกอยู่ที่ กก.ละ 3.80 บาท ทำให้เกษตรกรขาดทุน แม้รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน และได้รับชดเชยที่ กก.ละ 4 บาท ก็ยังไม่ชดเชยส่วนที่แบกรับต้นทุนสูงและได้รับชดเชยในพื้นที่ไม่เกิน 25 ไร่ต่อครอบครัว ซึ่งโครงการประกันรายได้เป็นเพียงซื้อเวลาหรือลดกระแสการเรียกร้องของเกษตรกร อยากให้ระดมความเห็นและแก้ปัญหาในระยะยาว
ตั้ง'สิโรตม์'นั่งรักษาการผอ.อสมท
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 มีมติแต่งตั้ง นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เป็นการชั่วคราว แทนนายเขมทัตต์ พลเดช ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เนื่องจากอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2563 นอกจากนี้ที่ประชุมยังแต่งตั้ง นายกิตติพงษ์ ขันติรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นเลขานุการบริษัท แทนนายเขมทัตต์ พลเดช โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2563
ดันปลากะพงขาวเข้าห้าง
ชี้โควิดฉุดยอดฮวบราคาดิ่ง เดินหน้ายกระดับการผลิต
นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้ร้านค้า ภัตตาคาร และโรงแรม หยุดการสั่งซื้อ รวมถึงการจำหน่ายสินค้าประมงให้ผู้บริโภคในประเทศก็ลดลงอย่างฉับพลัน จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามปกติ ทำให้มีปลากะพงขาวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 3-6 กิโลกรัมต่อตัว ตกค้างในระบบการเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และยังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอีกด้วย
กรอ.คุมเข้มโรงงานทำผิดกม. ปล่อยมลพิษต้องดำเนินคดี
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปดูแลกรณีที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง บางประเภทที่กระทำผิดกฎหมายด้วยการสร้างปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เช่น การปล่อยกลิ่นเหม็น ปล่อยน้ำเสีย ปล่อยมลพิษ แอบทิ้งกากของเสีย และปัญหาเสียงดัง เป็นต้น ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน หากผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดก็ให้เร่งดำเนินการให้เกิดการแก้ไขให้ถูกต้องรวมถึงการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ประกอบการรายใดที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องส่งเสริมและสนับสนุนต่อไป
'ไวรัส'กดรายได้ท่าเรือ ตู้สินค้า9เดือนแดนลบ
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในรอบ 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สรุปดังนี้ 1.ทกท. เรือเทียบท่า 2,927 เที่ยว เพิ่มขึ้น 4.35% สินค้าผ่านท่า 16.212 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.06% ตู้สินค้าผ่านท่า 1.082 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 0.39% 2.ทลฉ. เรือเทียบท่า 7,646 เที่ยว ลดลง 6.24% สินค้าผ่านท่า 65.333 ล้านตัน ลดลง 3.94% ตู้สินค้าผ่านท่า 5.798 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 4.66% 3.ทชส. เรือเทียบท่า 2,123 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.41% สินค้าผ่านท่า 138,851.64 ตัน ลดลง 24.29% ตู้สินค้าผ่านท่า 6,721.75 ตู้ เพิ่มขึ้น 29.81% 4.ทชข. เรือเทียบท่า 145 เที่ยว ลดลง 393.10% สินค้าผ่านท่า 1,858.48 ตัน ลดลง 2,269.03% 5.ทรน. เรือเทียบท่า 197 เที่ยว ลดลง 30.46% สินค้าผ่านท่า 78,805 ตัน ลดลง 40.74% ตู้สินค้าผ่านท่า 2,574 ตู้ ลดลง 21.33%
สศอ.เร่งผุดแผนอุต ลุยเครื่องมือแพทย์ เตรียมรับมือโตสูง
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะส่งเสริมและผลักดันมาตรการด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิต การลงทุน การตลาด รวมถึงปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศ จึงจำเป็นจะต้องยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในประเทศและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น