วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 17 เม.ย. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน 
อสังหาฯหวั่นต่างชาติทิ้งดาวน์
แนะรัฐจัดแพคเกจล่อ-ยืดเวลาเช่า50ปี เลื่อนใช้กม.ภาษีที่ดิน-จ่ายเพดานต่ำสุด
ธุรกิจอสังหาฯหวั่นต่างชาติทิ้งดาวน์เหตุวิกฤตทั่วโลก แถมเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ แนะรัฐจัดแพคเกจจูงใจให้คนกลุ่มนี้ด้วยการให้ระยะเวลาพำนักในประเทศนานขึ้น และยืดระยะเวลาเช่าที่ดินจาก 30 ปี เป็น 50 ปี ระบุประเทศอื่นทำไปหมดแล้วเหลือแต่ไทย
โรคระบาดดัน'เครื่องปรุงรสไทย' โตสวนกระแสขึ้นที่3'ส่งออกโลก'
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าเครื่องปรุงรสอาหาร เป็นหนึ่งในสินค้าดาวเด่นของไทยที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น ทำให้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา เครื่องแกงปรุงรส ผงปรุงรส เป็นต้น ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสขยายตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยสถิติการส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเป็นมูลค่าสูงถึง 135.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 การส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด โดยเกาหลีใต้ขยายตัวสูงสุด 33% รองลงมา คือ อาเซียน และออสเตรเลีย จึงทำให้ไทยขยับตำแหน่งผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอาหาร อันดับที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐ และจีน จากปี 2562 อยู่อันดับ 6
'กสิกรฯ'ควัก500ล.อุ้มแรงงาน
รร.ชี้บุคลากรมีความสำคัญต้องรักษาไว้
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย จึงได้ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท จัดทำโครงการ "เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ" เพื่อช่วยแรงงานประมาณ 15,000 คน ผ่านเจ้าของธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารในการลดดอกเบี้ย และพักชำระหนี้ เป็นเวลา 6 เดือน และเจ้าของธุรกิจจะออกเงินอีกครึ่งหนึ่งสมทบ เพื่อช่วยเหลือพนักงานให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่มีรายได้เฉลี่ย 10,000-15,000 บาทต่อเดือน โดยจะเริ่มต้นที่ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ต 127 ราย พร้อมตั้งงบช่วยเหลือ 100 ล้านบาท ช่วยพนักงาน 3,000 คน ระยะเวลา 6 เดือน และขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแผนจะทำโครงการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลจะรับผิดชอบหากมีกรณีหนี้เสียเกิดขึ้นในสัดส่วน 70% และธนาคารร่วมด้วย 30% โดยโครงการนี้ธนาคารจะจ่ายเงินโดยตรงให้กับพนักงานผ่านบัญชีเงินเดือน (เพย์โรล) ทันที เพื่อให้แน่ใจว่าถึงมือลูกจ้างอย่างแท้จริง โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จะปล่อยกู้ช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง และต้องให้เงินถึงมือผู้รับที่เป็นแรงงานระดับล่าง ไม่ใช่เข้ากระเป๋าของผู้ประกอบการหรือคนที่ไม่สมควรได้รับเหมือนที่ผ่านๆ มา
'กสอ.'แนะ5อุตฯครัวเรือน ปั๊มรายได้ที่บ้านช่วงวิกฤต
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการและผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย ปิดบริการชั่วคราวจำนวน 35,068 แห่ง และผู้ประกันตน 644,136 คน เพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และผู้ว่างงานกลุ่มนี้อยู่รอด กสอ.จึงมีการสำรวจแนวทางเพื่อเยียวยา โดยมีอาชีพทำเงิน 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ที่ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินการได้ทันที
'ไลน์'ชี้โควิดทำผู้บริโภคเปลี่ยน แนะธุรกิจเร่งใช้อีคอมเมิร์ซช่วย
นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยแนวโน้มพฤติกรรม ผู้บริโภคไทยในก้าวต่อไปหลังสถานการณ์โควิด-19 ว่า การกักตัวอยู่บ้านได้เปลี่ยนพฤติกรรมการรับสื่อและการบริโภคของผู้คนไปเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น และมีแนวโน้มจะกลายเป็นพฤติกรรมถาวรแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นในอนาคต ซึ่งความต้องการซื้อสินค้าที่จำเป็นผ่านออนไลน์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับคุณภาพและประสิทธิภาพของสินค้ามากขึ้น มีความอ่อนไหวด้านราคาลดน้อยลง จึงเป็นโอกาสของการแข่งขันด้านคุณภาพ และผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ เช่นผู้สูงอายุก็นิยมซื้อสินค้าออนไลน์สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในธุรกิจ เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มจะโตอย่างต่อเนื่อง และจะกลายเป็น "New Normal" หรือ "ความปกติในรูปแบบใหม่" แม้ภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น