วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 เม.ย. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 
ชี้ 14 อุตฯหลักจ่อปิดกิจการ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ต้องติดตามแนวโน้มภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มเข้าสู่ภาวะอ่อนแอพบว่า เดือน ก.พ. 63 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก 14 คลัสเตอร์ ยังมีมูลค่าส่งออกติดลบต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก เครื่องสำอาง หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้ออีก 1-2 เดือน จะส่งผลกระทบให้กิจการรายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) อาจปิดตัวลง หรือเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น
กอช.จ่อรื้อกฎหมายสู้ไวรัส
เปิดทางสมาชิกถอนเงินได้
น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กอช.กำลังพิจารณาแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อเปิดให้สมาชิกสามารถถอนเงินที่มีการส่งออมออกมาใช้จ่ายได้ในช่วงเกิดภาวะวิกฤติ เช่น การเกิดภาวะโรคระบาดร้ายแรง โดยไม่ต้องขาดจากการเป็นสมาชิก และยังมีโอกาสได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลอยู่ เพื่อช่วยให้สมาชิกสามารถนำเงินออมออกมาใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินได้
เผยจัดสรรงบไปพลางก่อน สงป.แจง 1.32 ล้านล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณหรือสงป. เปิดเผยว่า สงป.ได้รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 62 ไปพลางก่อน ซึ่งเป็นงบประมาณก้อนพิเศษที่ออกมาใช้ในช่วงของการรอการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 เสร็จสิ้น ให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 62 - 21 ก.พ. 63 พบว่า ตามแผนได้กำหนดวงเงินไว้ทั้งสิ้น 1.36 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 45% ของงบประมาณประจำปี 62 ที่มีวงเงิน 3 ล้านล้านบาท โดยงบในส่วนนี้ได้ถูกจัดสรรลงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว 1.32 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของแผนการใช้จ่ายงบไปพลางก่อน
ถกคลังจัดซื้อจัดจ้างเอสเอ็มอี
น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด -19 ยังยืดเยื้อ เบื้องต้นสสว.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หามาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น อาจกำหนดโควตาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้ให้เอสเอ็มอีเป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในประเทศสหรัฐ และเกาหลีใต้, การกำหนดประเภทสินค้า เช่น อาหารและเครื่องดื่มให้เป็นวงเงินจัดซื้อจัดจ้างเอสเอ็มอี และการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้างขนาดย่อย ให้เป็นการซื้อจากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งมาตรการจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น