วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 15 ส.ค. 2562

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์มติชน
'เฉลิมชัย' ดันแปรรูปยางส่งนอก 
สั่งกยท.ประสานสหกรณ์ทั่วปท. ผนึกชาวสวน-เอกชนเพิ่มมูลค่า
'เฉลิมชัย' ลงพื้นที่ดูการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา สั่ง กยท.ประสานสหกรณ์และเอกชนร่วมกันทำงาน ขยายตลาด นำผลิตภัณฑ์ยางออกจำหน่ายทั่วโลก พร้อมประสานกลุ่มเกษตรกรและเอกชนเพิ่มมูลค่ายางพารา ไฟเขียว 'สุนันท์' นั่งรักษาการผู้ว่าการ กยท.
'สุริยะ' ลุยแก้ปมเหมืองทองอัครา 
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ที่ฟ้องร้องรัฐบาลไทย หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการว่า วันที่ 15 สิงหาคมนี้ จะมีการหารือประเด็นนี้กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อจะได้ทราบความคืบหน้าข้อได้เปรียบเสียเปรียบ ก่อนที่จะได้หารือกับผู้บริหารบริษัท อัคราฯต่อไป
บมจ.ปลื้มกวาดกำไรถ้วนหน้า 'ซีพีเอฟ-ราช-บี.กรีม' โชว์ยอด 
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟรายงานยอดขายงวด 6 เดือน ปี 2562 จำนวน 259,183 ล้านบาท เติบโตจากระยะเวลาเวลาเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายภาษีและค่าเสื่อม (อิบิด้า) จำนวน 22,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อน หากพิจารณาผลการดำเนินงานในรูปของเงินตราท้องถิ่น บริษัทจะมียอดขายเติบโตขึ้นประมาณ 5-6% แต่เนื่องจากสัดส่วนยอดขาย 67% ของบริษัทมาจากกิจการในต่างประเทศ ทำให้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ยอดขายจากกิจการต่างประเทศน้อยลงจากการแปลงค่างบการเงินมาเป็นสกุลเงินบาท ประมาณ 4% ทั้งนี้กำไรสุทธิงวด 6 เดือนปีนี้อยู่ที่ 8,384 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนประมาณ 6%
'อุตตม' กล่อมธุรกิจปั้นไทย 
ช่วยยกระดับขีดความสามารถ พัฒนาลดเหลื่อมล้ำประชาชน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเปิดโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีว่า ครั้งนี้มี 13 องค์กรที่เกี่ยวข้องในภาคตลาดทุนร่วมลงนามปฏิญญาขับเคลื่อน การพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นแม่งาน ซึ่งถือเป็นการสร้างทุนให้กับประเทศรูปแบบหนึ่ง โดยธรรมาภิบาลเป็นพลังขับเคลื่อนตลาดทุน ทั้งนี้ 13 องค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น