วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 ก.พ. 2566

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

แบงก์เต้นแฉภัยออนไลน์
รอกม.หักขาม้า-คุมซิมผี
นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงินสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การหลอกลวงของมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ หรือภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะแอพดูดเงินมีผู้เสียหายมากถึง 500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดเกือบ 100% เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ ซึ่งจากนี้สมาคมธนาคารไทยจะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หามาตรการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้ให้บริการทรู เอไอเอส ดีแทค เอ็นที และไลน์ ให้ตรวจสอบปิดไลน์ปลอม, จัดการชื่อผู้ส่งเอสเอ็มเอสปลอม, ปิดกั้นยูอาร์แอลเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย

'ทีเส็บ-สยาม' ดันอุตฯ ไมซ์
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่าร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท สยามพิวรรธน์ เพื่อขยายฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักเดินทางไมซ์ต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 3-5 เท่าให้กับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี โดยลูกค้ากลุ่มไมซ์ที่เข้ามาจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น สิทธิพิเศษของบัตรสมาชิกทัวริสต์การ์ด สยามกิฟท์การ์ด เป็นต้น ขณะเดียวกันทีเส็บได้กำหนดแผนงาน 5 ปี (66-70) โดยใช้ยุทธศาสตร์ ทีเส็บ โก ที่เน้นเป็นพันธมิตรเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ เร่งผลักดันแคมเปญปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ เพื่อฟื้นรายได้รวมจากอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ 66 (ต.ค.65-ก.ย.66) ให้ได้ 96,000 ล้านบาท หรือ 50% ของรายได้รวมไมซ์ไทย ก่อนเกิดโควิด

สั่ง 7 บริษัทตรึงราคาผ้าอ้อม
บาทแข็ง-น้ำมันลดกดต้นทุน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ประกอบการผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั้งของเด็ก และผู้ใหญ่ เตรียมขอปรับขึ้นราคาช่วงต้นเดือน มี.ค.66 ว่า กรมฯ ได้เรียกบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ 7 ราย เข้ามาหารือ ซึ่งภายหลังหารือ ได้รับคำยืนยันจากผู้ผลิตผ้าอ้อมทั้ง 7 รายว่า ยังจะไม่ขึ้นราคา โดยขอตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ถึงแม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นจาก ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ค่าขนส่งและอื่นๆ

'ขึ้นค่าแรง' ดันก่อสร้างพุ่ง
นายวิโรจน์ เจริญตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พรีบิลท์ เปิดเผยว่า บริษัทมีความกังวลหลังการเลือกตั้งว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรง ที่อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างอีกครั้ง แม้ปัจจุบันปรับขึ้นมาแล้ว 10% ฉะนั้นหากจะปรับขึ้นค่าแรงกันอีก ก็อยากให้รัฐบาลชุดใหม่แจ้งกับผู้ประกอบการให้ทราบล่วงหน้าด้วย เพื่อจะได้เตรียมพร้อม เพราะค่าแรงถือเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจรับเหมาหากปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะงานที่เซ็นสัญญาไปแล้ว "ปัจจัยที่มองว่าเป็นความเสี่ยงต่อต้นทุนการก่อสร้าง คือ ค่าวัสดุก่อสร้างที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น เพิ่มขึ้นมาแล้ว 10% ปัจจุบันต้นทุนก่อสร้างหลัก เช่น เหล็ก ราคาเหล็กเริ่มทรงตัวและนิ่งแล้ว แต่ยังมีราคาคอนกรีตที่ปรับขึ้นมาต่อเนื่องกว่า 20% ถือเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างหลัก ทำให้อาจมีแรงกดดันกำไรบางส่วน"

ปั้นเมืองไทยฮับกัญชงอาเซียน
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ว่า ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียนภายใน 5 ปีหรือปี 70 สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการกว่า 10,000 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่ เพราะไทยมีศักยภาพในด้านต่างๆ จะเร่งทำตามแผนปฏิบัติ เช่น มาตรการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์กัญชง ยกกระดับนวัตกรรมอุตสาหกรรมกัญชงสู่การต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรม และการส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

'โออาร์' กำไรหมื่นล้าน ศก.ฟื้นหนุนยอดขาย
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์แจ้งว่าในปี 65 บริษัทมีกำไร 10,370 ล้านบาท และมีรายได้ขายและบริการ 789,785 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.3% จากปริมาณการขายเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมปริมาณขายปรับเพิ่มขึ้นกว่า 15% และยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจาก บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด และผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ช่วงปี 64 แม้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 65 จะมีต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของธุรกิจยานยนต์

ชี้ธุรกิจอสังหาฯ อาการหนัก สารพัดเรื่องฉุดติดลบ 10%
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในปี 66 มีโอกาสติดลบสูง เนื่องจากยอดโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายจะมีเพียง 352,761 หน่วย ลดลงจากปีก่อน 10.2% และหากคิดเป็นมูลค่าแม้จะมีกว่า 1.01 ล้านล้านบาท แต่ก็ลดลง 4.5% ซึ่งเป็นการลดลงทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง แยกเป็นบ้านแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮาส์ ลดลง 7.4% และอาคารชุดพักอาศัย ลดลง 17.7% ขณะที่ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้ปล่อยใหม่ทั่วประเทศนั้น ในปี 66 มี 650,764 ล้านบาท ลดลง 6.8% เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น