วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2566

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 05 ม.ค. 2566

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เปิด 5 ปัจจัยกดเงินเฟ้อ 3%
'ธปท.-คลัง' เกาะติดตปท.
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปี 66 สนค.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย จะขยายตัว 2-3% ชะลอลงจากปี 65 ที่คาดว่าขยายตัว 5.5-6.5% มาจาก 5 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยขยายตัวลดลง ขณะเดียวกันมีเรื่องราคาน้ามันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ตามสัญญาณการชะลอตัวของความต้องการใช้ของโลก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดตาม ปัจจัยต่อมาคือ ฐานดัชนีราคาในปี 65 อยู่ในระดับสูง ทำให้เมื่อเทียบการคำนวณอัตราเงินเฟ้อปี 66 จะอยู่ในระดับต่ำ

'กูรู' ชี้ 3 เทคฯ มาแน่ปี 66
นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียล เปิดเผยว่า เทรนด์เทคโนโลยีในปี 66 จะเกิดขึ้นมี 3 เรื่องที่สำคัญ โดยเรื่องแรก คือ โน-โค้ด โปรแกรมมิ่ง ซึ่งการเกิดขึ้นของคลาวด์ คอมพิวติ้ง ทำให้จำเป็นต้องมีโปรแกรมเมอร์จำนวนมาก แต่การเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงมีการหาวิธีที่เขียนโปรแกรมให้ง่ายขึ้น หรือไม่ต้องเขียนโค้ดเลย เช่น การสร้างเว็บไซต์ การทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยที่ไม่ต้องเขียนโปรแกรมแต่ใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้คนที่เขียนโปรแกรมไม่เป็นสามารถสร้างและสั่งโปรแกรมเมอร์และคอมพิวเตอร์ทำงานให้ได้ตามที่ต้องการ ส่วนคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ ก็เปลี่ยนไปทำงานที่เป็นดีฟ เทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้แรงงานในอนาคตทุกคน ต้องเขียนโปรแกรมเป็น โดยที่ไม่ต้องโค้ดดิ้ง แต่ใช้เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นมาช่วยทำงานแทน

ชี้งบฯ-จีดีพีปี 67 เหมาะสม
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณากรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าว ในวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.65 แสนล้านบาท โดยขาดดุลงบประมาณ 5.93 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.02 แสนล้านบาท โดยจะเสนอครม.พิจารณาวันที่ 10 ม.ค. นี้

สกนช.ลั่นตรึงดีเซล 35 บ.
ลุ้นคลังลดภาษี 5 บาทต่อ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ปี 66 สกนช.ยังบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยดูแลราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาทต่อไป เพราะราคาน้ำมันอยู่ในระดับผันผวนแม้ไม่รุนแรงเท่าปีที่แล้วก็ตามโดยปี 66 คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากเลวร้ายจะอยู่ที่ประมาณ 150 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล จากราคาเฉลี่ยปี 65 อยู่ที่ 135.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรอยู่ที่นโยบายภาครัฐ และราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างไรก็ตามตลอดปี 65 ที่ผ่านมา กองทุนฯ ได้ดูแลผลกระทบประชาชนทั้งก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี ที่ทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดจาก 318 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะนี้อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง ดีเซลตรึงไว้ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร

ปั้นแพลตฟอร์มรับพีดีพีเอ ช่วยรัฐประหยัดงบฯ 5 พันล.
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ จีพีพีซี เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พีดีพีเอ) ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 1 มิ.ย.65 โดยให้บริการหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายพีดีพีเอ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และลดภาระด้านงบประมาณในภาพรวมของรัฐ ตั้งเป้าหมายมีหน่วยงานรัฐเข้ามาใช้บริการกว่า 200 หน่วยงาน ประหยัดงบประมาณได้กว่า 5,000 ล้านบาท และในอนาคตมีแนวโน้มเปิดให้บริการกับเอกชนด้วย โดยเฉพาะบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีงบประมาณ

ดันเอกชนบุกมัลดีฟส์ ท่องเที่ยวอุ้มโอกาสดี
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมฯ ได้จัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกเชิงรุก เพื่อขยายตลาดใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงวันที่ 13-15 มี.ค.66 จะนำคณะผู้แทนการค้าไปเยือนประเทศมัลดีฟส์ เพื่อหาลู่ทางและเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการไทยเข้าสู่ตลาดมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง จากการที่การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ร้านอาหารญี่ปุ่นพุ่งกระฉูด
นายจุน คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยว่า แนวโน้มร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยคาดว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตร้านอาหารญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างจังหวัดจะแพร่หลายมากขึ้น และมีระดับราคาที่หลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น