วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 08 ก.พ. 2565

 สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า 

ออมสินปล่อยกู้ใหม่กว่า 5.9 แสนล้าน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานปี 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ธนาคารเพื่อสังคม" ยึดหลักบริหารจัดการนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติมาสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธนาคาร โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ธนาคารมียอดสินทรัพย์ 3,045,000 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ มียอดเงินฝาก 2,576,934 ล้านบาท ยอดสินเชื่อ 2,270,281 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 590,000 ล้านบาท และระดับความแข็งแกร่งพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio)อยู่ที่ 16.06% รวมทั้งควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ให้อยู่ในระดับต่ำ 2.5% ของสินเชื่อรวม มีเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากหนี้เสีย 93,000 ล้านบาท สูงที่สุด ในรอบหลายปี คิดเป็น สัดส่วนต่อ NPLs สะท้อนความมั่นคงมีเสถียรภาพของธนาคารที่ระดับ 165.09%

รับซื้ออ้อยสดตันละ 1,200 บาท จูงใจชาวไร่พัฒนาคุณภาพผลผลิต
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์ หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงาน น้ำตาลได้เสนอแนวทางการบริหารระบบราคาอ้อย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและเพิ่มรายได้เพาะปลูกให้แก่ชาวไร่อ้อยมีความมั่นคงในการยึดอาชีพปลูกอ้อยจัดส่งให้แก่โรงงาน พร้อมร่วมมือกันพัฒนาระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้เข้มแข็ง โดยเสนอระบบประกันการรับซื้ออ้อยสดมีคุณภาพในรอบการเพาะปลูก ปี 2565/66-2567/68 ในราคา 1,200 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 12.63 ซี.ซี.เอส. ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย ความหวานย้อนหลัง 3 รอบปีการผลิต จากเดิมที่ประกันราคารับซื้ออ้อยสดที่ราคา 1,000 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูกอ้อยของชาวไร่ โดยโรงงานน้ำตาลพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ แก่เกษตรกรรายใหม่ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นหันมาเพาะปลูกอ้อยเพื่อจัดส่งให้แก่โรงงาน

ของแพงยาวถึงสิ้นปี สอท.แนะรัฐลดค่าน้ำ-ค่าไฟช่วยชาวบ้าน
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจความคิดเห็น ผู้บริหารสมาชิกส.อ.ท. (โพลล์ส.อ.ท.) ประจำเดือนก.พ.2565 ในหัวข้อ "สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร" พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไป อย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น