วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 ม.ค. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

เอาไม่อยู่! หนี้เสียยังบานฉ่ำ
คาดปี 64 พุ่งระดับ 3.53% ลามถึงรายได้ครัวเรือนวูบ
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ได้ประเมินสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 63-64 จากฐานข้อมูลรายงานงบการเงินประจำไตรมาส 4 ปี 63 คาดยอดคงค้างเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์สิ้นปี 63 ยอดรวม 5.23 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.16% ของสินเชื่อรวม หรือเพิ่มขึ้นถึง 12.5% จากยอดคงค้างเอ็นพีแอล 4.65 แสนล้านบาท ในปี 62 หรือเพิ่ม 58,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขอย่างเป็นทางการจะต้องรอจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน ก.พ.นี้

ยามาฮ่าเปิดตัวรถปีนี้ 5 รุ่น
นายเท็ตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 64 ว่าได้ปรับแผนผลิตและการขายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าใหม่ โดยเน้นรุ่นยอดนิยมอย่างแกรนด์ฟีลาโน่ ไฮบริด, เอ็นแม็กซ์, เอ็กซ์แม็กซ์ และฟินน์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดสต๊อกให้กับผู้จำหน่าย ขณะเดียวกันได้จัดอบรมการทำการตลาดแบบออนไลน์ให้กับผู้จำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มยอดขายขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและสร้างยอดขายได้ดีในภาวะวิกฤติ

คลังให้เพิ่มทุน 1.5 หมื่นล้าน
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบหลักการให้ธสน. เพิ่มทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อดูแลผู้นำเข้าและผู้ส่งออก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่คลังกำลังจัดสรรวงเงิน ซึ่งแบ่งการเพิ่มทุนเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกรับก่อนประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 7,500 ล้านบาท ภายในช่วง 1-2 เดือนนี้ ส่วนก้อนที่เหลืออีก 7,500 ล้านบาท จะพิจารณาให้อีกครั้งหนึ่ง

เบอร์เกอร์คิงปรับโฉม 20 ปี
นายธนวรรธ ดำเนินทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายเบอร์เกอร์คิง เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ในรอบ 20 ปี โดยปรับทั้งโลโก้ สี ตัวอักษร การตกแต่งร้านมีความทันสมัยเพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยใหม่เข้าสู่ดิจิทัล พร้อมกับเตรียมใช้โลโก้เขียนภาษาไทย เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงคนไทยมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและปรับแพ็กเกจไตรมาส 3 นี้ คาดว่าจะทยอยปรับภาพลักษณ์ได้ครบทุกสาขาภายใน 9 ปี จากปัจจุบันปรับไปแล้ว 1 สาขา ที่ปั๊มคาลเท็กซ์รังสิต-นครนายก

กสิกรแนะลงทุนสม่ำเสมอ ลดถือเงินสดกระจายเสี่ยง
นายตรีพล ภูมิวสนะ กรรมการผู้จัดการ ด้านธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้ง กลุ่มไพรเวทแบงก์กิ้ง ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กสิกรไทยกับลอมบาร์ด โอเดียร์ ได้มีมุมมองและกลยุทธ์การลงทุนให้ยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง โดยแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภทผ่านกองทุนรวม และให้ลดการถือเงินสดไว้ในพอร์ตการลงทุน เช่น พันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรจะดูไม่น่าดึงดูดในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่ดี โดยนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรในหลายประเทศ เช่น จีน และสหรัฐ เป็นต้น

จัดระเบียบโครงการ 5 พันล.
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศช.ได้เสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกำหนดให้ทุกหน่วยงานราชการต้องจัดทำข้อเสนอโครงการลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ที่ไม่ได้ใช้แหล่งเงินจากเงินงบประมาณ เช่น เงินกู้ การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือพีพีพี และแหล่งเงินอื่นๆ ต้องจัดทำข้อเสนอแผนงานหรือโครงการที่มีรายละเอียดครบถ้วนเพียงพอเสนอให้ สศช.เห็นชอบ ก่อนเสนอสศช.พิจารณาเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ตามขั้นตอนต่อไป

ร้องหนัก 'ลดดอก-พักหนี้'
ย้ำไม่พร้อมรัฐล็อกดาวน์
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจเอฟทีไอ โพล เป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท. 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 74 แห่งต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม พบว่า สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 การลดดอกเบี้ยเงินกู้และพักชำระหนี้ 73.8% อันดับ 2 การลดหย่อนทางภาษี เลื่อนการชำระภาษี 70.6% อันดับ 3 จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ 65.6% อันดับ 4 การกระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้ที่เสียภาษี เท่ากันที่ 64.4% และอันดับ 5 การปรับหลักเกณฑ์ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ให้เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน 57.5%

จ่อถกบอร์ดรถอีวีก.พ.นี้ คาดดัชนีอุตฯ ทะยาน 5%
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนก.พ. อาจประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทั้งระบบ โดยจะติดตามมาตรการการประชุมนัดแรกเมื่อเดือน ธ.ค.63 ให้ สศอ.ประสานกรมบัญชีกลางในการออกประกาศราคากลางรถอีวีเพื่อใช้ในราชการ ซึ่งล่าสุดทราบว่า มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา น่าติดตามว่า จะมีหน่วยงานราชการใดเริ่มจัดซื้อรถอีวีตามนโยบายรัฐบาล

'สุริยะ' ชี้ปีทองอุตฯ อาหาร คาดมูลค่าทะลุ 1 ล้านล้าน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันอาหาร ได้คาดการณ์การส่งออกอาหารของไทยปี 64 จะมีมูลค่า 1.08-1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2-12.2% เทียบกับปี 63 ที่คาดว่าติดลบ เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มพืชพลังงานทดแทน เช่น ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง ทิศทางราคาดีขึ้น จากความต้องการพลังงานทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ ในเอเชีย ส่งผลให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะจีน จะส่งผลดีจูงใจในการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรไทย ล่าสุดผลผลิตวัตถุดิบภาคเกษตรของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ราคาและรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อวัตถุดิบและเกื้อหนุนต่อการบริโภคภายในประเทศ

รื้อเกณฑ์คำนวณเงินเฟ้อ ปรับใหญ่รับนิสัยคนไทย
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในปีนี้กรมได้ปรับปีฐานและวิธีการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้ผลิตใหม่ โดยใช้ปีฐาน 2562 พร้อมกับสำรวจครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำลงจากปกติเดือนละ 12,000-62,000 บาท เหลือ 6,987-50,586 บาท รวมถึงลดสัดส่วนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลงจาก 42% เหลือ 22% เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคโควิดระบาด สุขภาพนิยม และสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.64 เป็นต้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น