วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 ต.ค. 2563

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

บ้าน-คอนโดฯ กระอักเลือด
ขายไม่ออกเฉียดล้านล้านบ.
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่เหลือค้างสต๊อกในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวนมากโดยในสิ้นปีนี้ประเมินว่า จะมีที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกสูงถึง 185,993 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 937,703 ล้านบาท และหากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐเชื่อว่าในครึ่งปีหน้าที่อยู่อาศัยเหลือค้างสต๊อกจะเพิ่มเป็น 193,415 หน่วยหรือมีมูลค่า 956,086 ล้านบาท ซึ่งจะต้องใช้เวลามากถึง 4-5 ปี ถึงจะระบายสต๊อกที่เหลือค้างหมด

อุตฯ คุมเข้มยางเก่าหล่อดอกซ้ำ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ให้ สมอ. เร่งออกประกาศให้ยางหล่อดอกซ้ำเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากมีการนำยางรถยนต์เก่าไปหล่อดอกยางซ้ำโดยไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะยางรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถขนสินค้า และรถพ่วง พร้อมควบคุมมาตรฐานรถเก๋ง รถกระบะ ไม่เกิน 9 ที่นั่ง ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยจากการชนของรถยนต์ทั้งด้านหน้า และด้านข้าง หลังจากที่บอร์ด สมอ. ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

กำไร 8 แบงก์วูบ 4.6 หมื่นล้าน
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์, กรุงเทพ, กสิกรไทย, กรุงไทย, ทีเอ็มบี, ทิสโก้, เกียรตินาคิน และ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้แจ้งงบการเงินในไตรมาส 3 ปี 63 ต่อ ตลท. โดยพบว่ามีกำไรลดลง 23,183 ล้านบาท จาก 46,918 ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน เหลือ 23,735 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ลดลง 45,975.62 ล้านบาทจากปีก่อน 132,171.34 ล้านบาท ลดเหลือ 86,195.72 ล้านบาท เพราะโควิด-19 ต้องตั้งสำรองผลขาดทุนสูงและมีหนี้เสียเพิ่ม

รายได้ท่องเที่ยวหด 70% เมืองรองเริ่มผงกหัวได้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยสถานการณ์ท่องเที่ยวประเทศไทยว่า ในช่วง 9 เดือนปี 63 (ม.ค.-ก.ย.) ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวมเพียงแค่ 655,000 ล้านบาท ลดลงอย่างรุนแรงถึง 1.57 ล้านล้านบาท หรือลดลง 70% เป็นรายได้จากต่างชาติ ลดลง 1.1 ล้านล้านบาท ลดลง 76% และรายได้ไทยเที่ยวไทย ลดลง 4.7 แสนล้านบาท ลดลง 59% ซึ่งการปรับลดลงทั้งหมด เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานมาตั้งแต่ต้นปี

อึ้ง! รถโดยสารไม่ผ่านทดสอบพลิกคว่ำ
โครงสร้างยุบถึงเบาะนั่งอันตราย ขบ.เพิ่งพร้อมเร่งกำหนดต้นแบบ
นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังเกตการทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างรถโดยสารโดยการพลิกคว่ำตามมาตรฐานสากลของข้อกำหนดสหประชาชาติ (United Nation Regulation) UN R66 และโครงการศึกษาออกแบบโครงสร้างตัวถังรถโดยสารให้มีความแข็งแรงเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยโดยศูนย์เทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อจัดทำโครงสร้างตัวถังรถโดยสารมาตรฐานต้นแบบให้ผู้ประกอบการอู่ต่อตัวถังและผู้ผลิตตัวถังรถ ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่าผลการทดสอบยังไม่ผ่าน

พลิก 2 พันล้านเป็นหมื่นล้าน
'ศักดิ์สยาม' กางเป้าบริษัทลูกรถไฟฯ บริหารสินทรัพย์ล้างหนี้ 1.6 แสนล้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครั้งที่ 2 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ รฟท. จัดตั้งบริษัทลูกใช้ชื่อ "บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด" เพื่อวางแผนแนวทางบริหารจัดการและการดำเนินการเช่น โครงสร้างองค์กร ข้อบังคับ และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงาน ทั้งนี้ได้เสนอแนะให้รฟท.ไปศึกษาดูงานรูปแบบการบริหารของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่มีความคล่องตัวโดยเฉพาะเรื่องบริหารจัดการที่ดินของ รฟท. ที่มีประมาณ 30,000-40,000 ไร่ มูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาท แต่ปัจจุบันมีรายได้จากที่ดินประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดที่ควรจะได้ แต่ รฟท.มีสภาพขาดทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท

รฟม.อุทธรณ์สีส้มก่อน 9 พ.ย.
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ว่าที่ประชุมรับทราบกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการประกาศใช้เอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณา คัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Document : RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพิ่มเติมที่กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกชนจากคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน โดยที่ประชุมกำชับให้ รฟม. ประกวดราคาให้เป็นไปตามกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณชน ทั้งนี้ศาลฯไม่ได้มีคำสั่งให้ รฟม. ระงับการประมูลเพียงแต่ให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน ดังนั้นจะเดินหน้าเปิดประมูลต่อไป คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มอบประธานคณะกรรมการ ม.36 และ รฟม. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดคาดว่าจะยื่นก่อนวันที่ 9 พ.ย.63 ซึ่งเป็นวันที่เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอส่วนผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

สนามบินภูธรหายวับ 113 ล้าน
รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งผลการดำเนินงานด้านการจราจรทางอากาศปีงบประมาณ 63 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) ของท่าอากาศยานสังกัด ทย. ทั้ง 28 แห่งว่า ภาพรวมมีปริมาณผู้โดยสาร 11.35 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.28% แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 6.33 แสนคน ลดลง 58.71% และภายในประเทศ 10.73 ล้านคน ลดลง 35.30% โดยท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานกระบี่ 1.84 ล้านคน 2.ท่าอากาศยานอุดรธานี 1.60 ล้านคน 3.ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี 1.206 ล้านคน 4.ท่าอากาศยานขอนแก่น 1.204 ล้านคน และ 5.ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช 1.19 ล้านคน

'แทรมภูเก็ต' รอเข้าครม. 1 ปี
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ซึ่งมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ประธานบอร์ด รฟม. เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาวิเคราะห์การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม)จังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท รฟม. จะนำเสนอผลการศึกษาฯ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบต่อไป จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเข้าบรรจุเป็นวาระในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ก่อน เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประมาณเดือน ต.ค. 64 และหากเห็นชอบ รฟม. จะประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ช่วงต้นปี 65 เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการ และสามารถเปิดบริการได้ภายในปี 69

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น