วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 08 พ.ย. 2565

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

แบงก์คุมเข้มรูดปื๊ดปลายปี
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้สำรวจมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 65 ยังใกล้เคียงเดิม ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เข้มงวดขึ้นตามคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลง ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งพิจารณาปรับเพิ่มหลักประกัน หรือปรับเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ให้เข้มงวดขึ้น โดยแนวโน้มไตรมาสที่ 4 มาตรฐานการให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคอื่นมีความเข้มงวดขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งกังวลต่อความเสี่ยงของผู้กู้ในช่วงที่ภาระหนี้และค่าครองชีพปรับสูงขึ้น ส่วนมาตรฐานการให้สินเชื่ออื่นยังใกล้เคียงเดิม

น้ำมันลง-น้ำลดกดเงินเฟ้อ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือน ต.ค.65 เท่ากับ 108.06 เพิ่มขึ้น 5.98% แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว 2 เดือนติดต่อกันตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าในกลุ่มอาหารบางรายการส่งผลให้เงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 65 (ม.ค.-ต.ค.) อยู่ที่ 6.15% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกเพิ่ม 3.17% เฉลี่ย 10 เดือน เพิ่ม 2.35%

งัดหนทางบังคับประหยัดไฟ
รับแอลเอ็นจีพุ่งจากสงคราม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. มีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานในเดือน ต.ค.-ธ.ค.65 รองรับผลกระทบค่าไฟฟ้าราคาแพงจากความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทย โดยมีทั้งสิ้น 11 มาตรการโดย 1 ในมาตรการคือการขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงาน และมีมติว่าหากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี สูงกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 14 วัน ให้นำเสนอเป็นมาตรการภาคบังคับเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน โดยภาครัฐจะออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งก่อนบังคับจะดูแนวโน้มเทรนด์ราคา และแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีอยู่ที่ประมาณ 28-29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ทีวีคึกคักรับ 'บอลโลก' ชี้ตลาดโต 2.45 หมื่นล.
นายจิรสิน ศรีสุวนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายจัดซื้อ กลุ่มภาพและเสียง บริษัท เพาเวอร์บาย ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกเปิดเผยว่า บริษัทได้จับมือร่วมกับพันธมิตร อาทิ ซัมซุง แอลจี โซนี่ ไฮเซ่นส์และทีซีแอล จัดแคมเปญการตลาด เชียร์ติดสนามคมชัดสมจริงทุกแมตช์ นำทีวีจอใหญ่รุ่นล่าสุดที่มีความคมชัดระดับ 4เค เสมือนนั่งดูอยู่ขอบสนามและเครื่องเสียงคุณภาพหลากหลายรุ่นที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมเชียร์ที่สะใจยิ่งขึ้นมาจำหน่ายในราคาพิเศษ ลดสูงสุด 50% และผ่อน 0% นาน 10 เดือนตั้งเป้าหมายจะช่วยกระตุ้นยอดขายของสินค้ากลุ่มทีวีและเครื่องเสียงเพิ่มอีก 30%

ยามาฮ่าส่ง 'ฟิลาโน่ไฮบริด' มั่นใจปั๊มยอดขายเกินเป้า
นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่าได้เปิดตัวยามาฮ่า แกรนด์ ฟิลาโน่ ไฮบริด พร้อมกัน 2 รุ่น ราคาระหว่าง 64,700-69,200 บาท ตั้งเป้าหมายยอดขายเดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 คัน เดิมรถรุ่นนี้ขายที่เดือนละ 8,000-9,000 คัน เนื่องจากที่ผ่านมารถจักรยานยนต์ออโตเมติกของยามาฮ่าได้รับการตอบรับอย่างดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ยามาฮ่า ฟินน์ และก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว ยามาฮ่าพาซิโอ ส่งมอบแล้วกว่า 5,000 คัน

ศรีนานาพรลุยเวียดนาม ดันยอดขายพันล้านบาท
นายฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ บจม.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง เปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายจากเวียดนาม ไว้จำนวน 1,000 ล้านบาทในปี 66 ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทในปี 69 จากที่ 6 เดือนแรกปี 65 บริษัทมียอดขายผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ 218 ล้านบาท โดยบริษัทได้เปิดโรงงาน เอส.ที.ฟู้ด มาร์เก็ตติ้ง ในเวียดนาม และเริ่มเดินสายการผลิตเมื่อวันที่ 27 ก.ย.65 ซึ่งได้เปิดจำหน่ายสินค้าเชิงพาณิชย์เป็นทางการในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เริ่มจากการผลิตขนมขึ้นรูปขนมปังแท่งภายใต้ยี่ห้อโลตัส ก่อนติดตั้งเครื่องจักรในเฟสที่ 2 แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 66 เพื่อผลิตสินค้ายี่ห้อเบนโตะและเฟสที่ 3 จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 66 เพื่อผลิตสินค้ายี่ห้อเจเล่

ไร่อ้อยยิ้มได้เกิน 1,000 บ.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 65 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 65/66 คาดการณ์ว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท โดยต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลตลาดโลกด้วย และยังดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับชาวไร่อ้อยบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ปี 65-67 วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมวงเงิน 6,000 ล้านบาทด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น