วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สรุปข่าวตลาดหุ้น หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ฉบับวันที่ 09 - 15 พ.ค. 2565

 สรุปข่าวตลาดหุ้น หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ฉบับวันที่ 09 - 15 พ.ค. 2565

บล.เมย์แบงก์ แจงสถานะ วอลุ่มหายแต่กำไรไม่หด
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST รายงานผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาส 1/2565 ว่ามีกำไรสุทธิ 281.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.87 ล้านบาท หรือเติบโต 1.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 276.73 ล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นจะผันผวนและรายได้จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง ตามสภาพตลาดโดยรวมที่มีปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนลดลง และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่ลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ทำให้บริษัทยังคงแสดงผลการดำเนินงานที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

มาใหม่-"หุ้นกู้ดิจิทัล ซีพีออลล์"
เปิดขายผ่านแอป เป๋าตัง ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ระบุเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล กำหนดอายุ 5 ปี เปิดทางให้นักลงทุนรายย่อยด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี

ก.ล.ต.อนุมัติขยายเวลากู้เงิน เสริมสภาพคล่องกอง REIT
อนุมัติแล้ว...ให้ขยายระยะเวลาการกู้ยืมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนให้ REIT ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

ทรีนีตี้ ชี้ 6 ปัจจัยเสี่ยง ตั้งรับแรงขายพฤษภา
บล.ทรีนีตี้ ชี้ตลาดหุ้นถูกกดดันจาก 6 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทั้งเงินเฟ้อสูง บาทอ่อน โบรกจ่อหั่นคาดการณ์กำไร บจ.รับผลกระทบต้นทุนที่สูงขึ้นจากน้ำมันดีเซลขยับ และแรงขายต่างชาติหลังซื้อสุทธิกว่า 1.2 แสนล้าน แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเดือนพฤษภาคม ให้รอซื้อที่แนวรับแรกของดัชนีที่ระดับ 1,630 จุด ส่วนแนวรับสำคัญอยู่ที่ Low เดิม 1,580-1,600 จุด

พฤษภา-เดือนแห่งความเสี่ยง ระวัง Sell in May & Go Away
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์แจกแจง ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ-การเงินไทยและโลกในอนาคตอันใกล้เพิ่มขึ้นยุ่บยั่บชัดเจน 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ถาโถมมีเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นตัวนำ ตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวรุนแรง ฉุด DGP ทั่วโลกร่วงระนาว ตบท้ายด้วยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ระดับหัวกะทิทั่วโลกมองตรงกันว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยใน 1-2 ปีข้างหน้า สำหรับไทยจะอยู่ในภาวะเปราะบางจากเหตุเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง กระทบดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะติดลบ 2 ปีติดกัน รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยในอเมริกาที่เป็นขาขึ้น จะทำให้ Fund Flow ไหลออกจากไทย อาจทำให้แบงก์ชาติต้องคิดหนัก ถึงขั้นกลับลำปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นของภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน และผู้ที่กู้เงิน ที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้ารอบด้าน

 สรุปข่าวตลาดเงิน หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ฉบับวันที่ 09 - 15 พ.ค. 2565

EXIM ปล่อยกู้ลูกค้าใหม่เพิ่ม 3 เท่า ฟาดกำไรไตรมาส 1/65 โตถึง 346%
เอ็กซิมแบงก์ โชว์ผลงานไตรมาส 1/65 โตกระฉูด ปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.49 หมื่นล้านโต 74.3% เป็นของลูกค้าเอสเอ็มอี 4.54 พันล้าน เพิ่มขึ้นกว่า 215% ขยายฐานลูกค้าใหม่ได้มากถึง 1.10 หมื่นล้าน โต 361% ด้าน CLMV และตลาดใหม่สินเชื่อโตกว่า 18% ขณะที่หนี้เสียหดเหลือ 2.86% ดันกำไรสุทธิ 411 ล้านบาทพุ่ง 346% แม้ยังสำรองหนี้เสียในระดับสูง 275% ยันยังคงเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศ ด้วยภารกิจ ซ่อม สร้างเสริม และสานพลัง

บสย. ยอดค้ำ Q1/65 พุ่ง 4.8 หมื่นล. ไตรมาส 2 ลุยแสนล้านช่วย SME
บสย. อวดผลงานค้ำประกันสินเชื่อไตรมาสแรกทะลุทะลวงกว่า 4.81 หมื่นล้าน ภาคเกษตรยอดค้ำพุ่งขยายตัว 30% พร้อมร่วมขับเคลื่อนมาตรการการเงินหนุนกลุ่มธุรกิจสีเขียว BCG ภาคส่งออก ซัพพลายเชน กลุ่มรายย่อย ไตรมาส 2 บสย.ตั้งเป้าช่วยเอสเอ็มอีทุกกลุ่มได้รับสินเชื่อ 1 แสนล้านบาท มั่นใจกลไกค้ำประกันสินเชื่อหนุนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

"สมหวังฯ" เล็งสินเชื่อโต 40% ชี้หนี้เสียเริ่มขาลงตั้งแต่ Q3/64
สมหวัง เงินสั่งได้ ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 30-40% เพิ่มยอดคงค้างเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท ระบุแนวโน้มหนี้เสียเป็นขาลงตั้งแต่ไตรมาส 3/64 ลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือรอดแล้ว มองรัฐประกาศปีแก้หนี้ครัวเรือน อาจผลักคนออกไปกู้นอกระบบ ล่าสุดฉลองครบรอบ 10 ปี จัดแคมเปญกู้ง่ายกว่าเดิม

KTC กระตุ้นรับมือภัยไซเบอร์ เปิด 4 องค์ประกอบป้องกันทุจริต
เคทีซี ชวนคนไทยรับมือความเสี่ยง-ภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น ตอกย้ำผู้นำธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่พัฒนาธุรกรรมการเงินออนไลน์ ควบคู่การบริหารเพื่อป้องกันการทุจริตด้านดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วย 4 องค์ประกอบหลัก บุคลากร-กระบวนการ-เทคโนโลยี-การบริหารจัดการข้อมูล พร้อมแนะวิธีสังเกต-ป้องกันการทุจริตบนออนไลน์

ปริญญา พัฒนภักดี ประธานบอร์ดคนใหม่ SAM บริษัทบริหารสินทรัพย์ของคนไทย ชูนโยบาย "ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจ"
ปริญญา พัฒนภักดี ประธานบอร์ด SAM คนใหม่กำหนดให้ SAM เป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยช่วยผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาด้านเครดิตให้ฟื้นกลับมาอยู่รอด-อยู่ได้-เติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น