วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2565

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

ลุ้นครม.เคาะแพ็กฯ รถอีวี
ถูกลงหลักหมื่น-1.5 แสนบ. ชี้พ่วงเงื่อนไขกระตุ้นตปท.
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศไทย เริ่มมีความชัดเจนแล้ว และคาดว่าคณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย (บอร์ดอีวี) จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้เร็วๆ นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะลดภาษีเป็นแพ็กเกจ ทั้งภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น บางประเทศเก็บ 0% บางประเทศเก็บสูงถึง 20-40% ให้ลดลงมาในระดับที่แข่งขันกันได้ รวมถึงอัตราภาษีสรรพสามิตก็จะปรับลดลงด้วย

แอลจีเท 250 ล.ลุยขายแอร์ ดึง 'เวียร์' พรีเซ็นเตอร์หลัก
นายซองฮัน จาง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทวางแผนใช้งบทำตลาดสินค้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ 250 ล้านบาท สำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่ 9 ซีรีส์ 29 รุ่น จากปี 64 ที่ใช้ 70 ล้านบาท เปิดตัวสินค้าใหม่ 7 ซีรีส์ 23 รุ่น ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มโดยเน้นจับตลาดพรีเมี่ยมเป็นหลัก พร้อมกับดึงพระเอกชื่อดัง เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์แอร์เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายมียอดขายเติบโตขึ้น 35% ในมูลค่า 3,200 ล้านบาท หรือจำนวน 173,000 เครื่อง จากปีที่แล้วที่ยอดขายติดลบ

ปตท.สผ.ชี้ยอดขายพุ่ง วันละ 4.67 แสนบาร์เรล
น.ส.อรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 65 คาดว่า ปริมาณการขายยังเติบโตต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตจากแหล่งใหม่ที่จะเข้ามามากขึ้น และราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ในปีนี้จะสูงขึ้นด้วย โดยบริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายไตรมาส 1 ปี 65 อยู่ที่ 4.36 แสนบาร์เรลต่อวัน และคาดทั้งปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.67 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเพิ่มขึ้นจากปี 64 อยู่ที่ 4.16 แสนบาร์เรลต่อวัน

สั่งแบงก์อุ้มลูกหนี้ต่ออีก 2 ปี
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.ได้ส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) ทุกแห่ง เพื่อออกแนวทางสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งให้มีความต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือหลังจากภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้สถาบันการเงินและแบงก์รัฐลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู ให้มีผลระหว่างวันที่ 1 ม.ค.65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 รวม 2 ปี จากเดิมแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายนี้ในโครงการดีอาร์บิซ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคงที่ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.64

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น