วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 12 ต.ค. 2564

 สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า 

กกร.ขนข้อมูลชงนายกฯ เสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยว่า กกร.ได้ปรับประมาณการการเติบโตผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ปี 2564 ดีขึ้นจาก ที่คาดการณ์ไว้จะโตในกรอบ -0.5-1% เป็น 0.0-1% ส่งออกยังคงเดิมที่ 12-14% และ เงินเฟ้อทั่วไปคงกรอบเดิมที่ 1-1.2% เนื่องจาก มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นแต่รัฐบาลควรจะมีมาตรการเสริมอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นโดยเฉพาะการท่องเที่ยวจาก ต่างประเทศ กกร.จึงรวบรวมประเด็นข้อเสนอ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงิน การคลัง และภาษีเพื่อส่งหนังสือที่จะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในสัปดาห์นี้

ส่งออกรถยนต์ไปเมียนมาสะดุด ทางการประกาศห้ามนำเข้าชั่วคราว
นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองย่างกุ้ง ว่า กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ได้ออกประกาศเรื่องระงับการอนุญาตเปิดศูนย์ขายรถยนต์ใหม่ รวมทั้งระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าและการอนุญาตนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจาก เมียนมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศและส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า โดยการออกประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้เงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าสินค้ารถยนต์ฯ

ฟื้นฟูผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร-เอสเอ็มอี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยตัวเลขการ ปล่อยสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564 แบ่งเป็น 1. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อได้อนุมัติแล้ว 1.08 แสนล้านบาท ผู้ได้รับความ ช่วยเหลือจำนวน 3.5 หมื่นราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท 2.5 หมื่นราย) วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.07 ล้านบาท/ราย โดยประมาณ 45% ของผู้ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมดเป็น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ 2.โครงการพักทรัพย์ พักหนี้มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือไปแล้ว 112 ราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1 พันล้านบาท มี 16 ราย) รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการที่สนใจรายอื่นๆ อยู่ระหว่างการเจรจา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น