วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 09 ก.ย. 2564

 สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ความเชื่อมั่นอุตฯหัวทิ่ม กังวลโควิดระบาด-ศก.แย่-การเมืองร้อน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือ ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลาย ทำให้กำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก

อัด 4 หมื่นล้าน ต่อสายป่านธุรกิจ ช่วยผู้ประกอบการ 10,000 รายฝ่าวิกฤต
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมวงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการ SMEs ในซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Supply Chain Financing โดยช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมผ่านบริการด้านการเงินของทั้ง 3 ธนาคารได้มากกว่า 10,000 ราย รูปแบบสินเชื่อ Supply Chain Factoring จะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้รวดเร็วมากขึ้น โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร

คปภ. งัดไม้แข็งบี้บริษัทประกันจ่ายสินไหมโควิด เตะถ่วงปรับ 5 แสน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ที่บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดล่าช้า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ 1. เร่งบังคับใช้กฎหมาย กรณีบริษัทกระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลา ที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท ปรับรายวันอีกวัน ละไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับวันที่ 14 กันยายน 2564 หากพบว่าบริษัทใด จงใจฝ่าฝืน จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ 2. ให้บริษัทเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 ให้แล้วเสร็จ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องของบริษัท มาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนในแต่ละกรณีเพื่อให้สามารถยุติเรื่องร้องเรียนโดยเร็ว 3. ให้บริษัทปรับปรุงหน่วยงานรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 โดยเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย 4. ให้บริษัทเร่งปรับปรุงและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เอาประกันภัยให้ถูกต้องและชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น