วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 ส.ค. 2564

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 

ชงเยียวยาเข้าบอร์ดผลไม้
'จุรินทร์-เฉลิมชัย' ปลดล็อกส่งออกทุเรียน-ลำไยไปตลาดจีน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เรื่องทุเรียนวันนี้ล้งรับซื้อทุเรียนที่จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นจุดรับซื้อใหญ่ของภาคใต้ เปิดรับซื้อปกติครบทุกล้งแล้วทั้งล้งที่รับซื้อเพื่อไปขายตลาดในประเทศและล้งที่รับซื้อเพื่อส่งการออกส่งผลให้ราคากระเตื้องขึ้น คาดว่าในช่วงเวลานี้จะมีทุเรียนออกในเดือน ส.ค. 64 ประมาณ 50,000 ตัน สำหรับภาคใต้ทั้งหมด

TWZ รุกธุรกิจกัญชงครบวงจร
นายกิตติพงศ์ กิตติภัสส รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ เปิดเผยว่าตามที่บริษัท ซีบีดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TWZ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียน ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมทุน (MOU) กับบริษัท เอเอไบโอ จำกัด เพื่อร่วมดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับกัญชงนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท สยาม เมดิคอล แคนนาบิสจำกัด (SMC) เพื่อจัดจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชงทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยบริษัท สยาม เมดิคอล แคนนาบิส จำกัด ถือหุ้นโดยบริษัท ซีบีดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัท เอเอ ไบโอจำกัด ในสัดส่วน 49% และ 51% ตามลำดับ

ชี้ทางรอดร้านอาหารสู้โควิดโปรโมตร้านสร้างจุดขาย
ผศ.ธารีทิพย์ ทากิ อาจารย์ประจำสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เปิดเผยถึงข้อเสนอทางรอดของธุรกิจร้านอาหารในช่วงโควิดระบาดว่า ทางรอดที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการได้นำเสนอ ประกอบด้วย 4 แนวทางดังนี้ 1.เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ ผู้ประกอบการร้านอาหารควรเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ดีและเหมาะสมที่สุดในยามนี้, 2.โปรโมตร้านสร้างยอดขายจากโปรโมชั่น ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องโปรโมตตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ของลูกค้าเนื่องจากในแต่ละแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่มีร้านอาหารมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักหรือทำการโปรโมตไปก่อนหน้านี้จะมีโอกาสได้รับความสนใจและสั่งซื้อมากกว่าร้านที่ไม่เคยทำการโปรโมตฯมาก่อน
3.เข้าร่วมโครงการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนในการขนส่งอาหารให้กับผู้บริโภค เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวตัดสินใจสั่งซื้ออาหารของผู้บริโภคเนื่องจากนโยบายของรัฐในช่วงที่ผ่านมาส่งผลโดยตรงอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และ 4.สร้างจุดขายผ่าน CSR ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องมองหาพันธมิตรองค์กร ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่มีนโนบายด้านสังคม (CSR) ด้วยการรับผลิตอาหารชุด (กล่อง) เพื่อนำไปบริจาคให้กับผู้ป่วยโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาล, โรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดฯ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องพยายามทำควบคู่ไปกับแนวทางอื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น