วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 06 ส.ค. 2564

  สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 

คุ้มภัยพิบัติสารเคมี
'กรอ.' ดึงเจ้าของโรงงานอบรมออนไลน์พร้อมระงับเหตุ
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศในส่วนของภาคการผลิตพบว่า มีการใช้สารเคมีหลากหลายชนิดในกระบวนการผลิต ซึ่งสารเคมีที่ใช้นั้นมีทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีทั้งโรงงานที่ผลิตสารเคมี โรงงานแบ่งบรรจุสารเคมี และโรงงานที่นำสารเคมีไปใช้ในกระบวนการผลิตทั้งที่ได้ผลผลิตเป็นเคมีภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งสารเคมีแต่ละชนิดก็มีความเป็นอันตรายที่แตกต่างกัน เช่น ไวไฟกัดกร่อน หรือมีความเป็นพิษ เป็นต้น ซึ่งหากเกิดการรั่วไหลของสารไวไฟอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ดังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ หรือหากเกิดการรั่วไหลของสารพิษอาจทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนหรือชุมชนโดยรอบโรงงานได้

WICE เปิดคลังสินค้าใหม่ รุกค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซ
นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยว่าบริษัทเปิดคลังสินค้าใหม่ย่านบางนา ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท ไวส์ ซัพพลายเชนโซลูชั่นส์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านซัพพลายเชนโซลูชั่น แบบครบวงจร ถือเป็นบริษัทย่อยที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถรับงานหลากหลายในอนาคต อาทิ กลุ่มลูกค้าธุรกิจค้าปลีก (Retail) และ E-Commerce ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูง จากความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทผลักดันการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในธุรกิจนี้

พณ. เปิดตัว 2 GI ใหม่ ปั้นรายได้
นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีก 2 รายการได้แก่ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ และเครื่องเคลือบเวียงกาหลง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว 141 รายการ จาก 77 จังหวัด ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน มีการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดคุณภาพของสินค้า และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น