วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 09 ก.ค. 2564

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

พัฒนาข้อมูลดิจิทัล ธปท.จับมือ 29 สถาบันการเงินส่งเสริมบริการทางการเงิน
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่สะดวกขึ้นและมีต้นทุนถูกลง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดด ข้อมูลที่เกิดจากบริการทางการเงินเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สำคัญของระบบการเงิน แต่ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินยังขาดกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล และมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่การเรียกใช้ข้อมูลของตนเองจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเพื่อขอใช้บริการกับสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องขอข้อมูลในรูปแบบเอกสารกระดาษ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยังมีส่วนในการจำกัดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้วย

SMEDBank ออกสินเชื่อเอสเอ็มอีท่องเที่ยวเข้าถึงทุน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อเอสเอ็มอีไทยพร้อมดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน2564 ที่เห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือโครงการสินเชื่อรายเล็ก Extra Cash จากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ขนส่ง สปา ฯลฯ มีเงินทุนนำไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกลับฟื้นธุรกิจได้ในอนาคต

หัวเรือใหญ่ไทยยูเนี่ยนเผยยุทธศาสตร์ 5 ปี จากธุรกิจอาหารทะเลสู่การดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและท้องทะเล
หากเอ่ยชื่อไทยยูเนี่ยน สำหรับแวดวงธุรกิจนักลงทุนแล้วคงเป็นที่รู้จักกันดี เพราะไทยยูเนี่ยน หรือบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือที่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เรียกกันติดปากว่า ทียู (TU) คือบริษัทอาหารรายใหญ่ของบ้านเราที่นับว่าเป็นผู้ผลิตอาหารทะเล top 5 ของโลก สำหรับคนทั่วไปชื่อไทยยูเนี่ยนอาจจะไม่ได้คุ้นหูนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ ซีเล็คทูน่าก็ต้องร้องอ๋อกันแทบทุกคน นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังเป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ทั้งในประเทศทางฝั่งยุโรปและอเมริกา อย่าง King Oscar จากประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีวางจำหน่ายทั่วโลก John West ในประเทศอังกฤษ Petit Navire ในประเทศฝรั่งเศส Mareblu ในประเทศอิตาลี Rugen Fisch ในประเทศเยอรมนี Chicken of the Sea ในสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยนอกจากซีเล็คแล้ว ไทยยูเนี่ยนก็ยังมีอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารพร้อมทาน คิวเฟรช ที่เพิ่งรีแบรนด์ไป เมื่อเร็วๆ นี้ และ OMG Meat โปรตีนทางเลือกในรูปแบบอาหารพร้อมทาน มีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป จะเห็นได้ว่าไทยยูเนี่ยนเริ่มขยับเข้าสู่ตลาดโปรตีนทางเลือก เพิ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัทให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาอาหารเพื่อสุขภาพที่หลากหลายและเพิ่มโปรตีนจากพืชในมื้ออาหาร ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจของไทยยูเนี่ยนที่ก้าวจากผู้ผลิตอาหารแบบดั้งเดิมที่แปรรูปต่างๆ อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็งและแช่เย็น มาเป็นธุรกิจตอบโจทย์ในเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น