วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 01 ก.ค. 2564

 สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า 

ลงทุนภาคเอกชนร่วงธปท.เกาะติดห่วงปัญหาแรงงาน
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 ว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ในทุกหมวดการใช้จ่าย ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน ขณะที่ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่อง จากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการ แพร่ระบาดระลอกสาม ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่

ธ.ก.ส.ปล่อยเงินกู้ร้านอาหารช่วยเพิ่มสภาพคล่องประคองการจ้างงาน
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจได้รับผลกระทบ จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทา ปัญหาให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ และร้านขายเครื่องดื่ม ที่ไม่สามารถดำเนินกิจการของตนได้อย่างเต็มรูปแบบเนื่องจากข้อจำกัดจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และลดผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน โดยการสนับสนุนสินเชื่อที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ

รง.น้ำตาลปรับแผนดันโควตาส่งออกเพิ่มหลังโควิด-19ระบาดยอดขายในประเทศลด
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 57 โรงงานได้ทำสำรวจปริมาณผลผลิตอ้อยขั้นต้นในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกปี 2564/2565 คาดมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 90 ล้านตันอ้อย สูงกว่ารอบการผลิตปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 66.67 ล้านตันอ้อย ปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกันราคารับซื้ออ้อยให้แก่ชาวไร่ในราคาขั้นต่ำที่ 1,000 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่ให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อตัดอ้อยสด ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อส่งมอบให้แก่ โรงงาน รองรับความต้องการบริโภคน้ำตาลที่คาดว่า จะฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น