วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2564

 สรุปข่าวโลกธุรกิจ หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ดัน'เมดอินไทยแลนด์'สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่าล้านล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้แข่งขันด้านการตลาดในประเทศได้ จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลักดันนโยบาย "Made in Thailand" เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน หันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติ กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 60% ของวัสดุที่ใช้ยกเว้นเหล็กที่ไม่น้อยกว่า 90% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2563 คาดว่าจะมี ส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยและทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) เข้มแข็งขึ้น เพราะแต่ละปีหน่วยงานรัฐทั่วประเทศจะมี งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท

โควิด-19ทำเจ้าหนี้-ลูกหนี้ระวังตัวแจฉุดยอดจดหลักประกันธุรกิจปี'63ลด36.21%
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2563 มีผู้จดทะเบียนสัญญาหลักประกัน ทางธุรกิจทั้งสิ้น 100,461 คำขอ มูลค่ารวม 1,487,186 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 36,380 คำขอ คิดเป็น 36.21% มีมูลค่าลดลง 221,055 ล้านบาท คิดเป็น 13% (ปี 2562 ผู้จดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ 136,841 คำขอ มูลค่า 1,708,241 ล้านบาท) สาเหตุที่ลดลงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) และผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน/เจ้าหนี้) ต่างมีความระมัดระวังในการขอและปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความสำเร็จของการฉีดวัคซีน สภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ประกอบการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก่อนตัดสินใจลงทุน

รัฐ-เอกชนแบกภาระดอกเบี้ยเพิ่มหมื่นล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย(บอนด์ยีลด์ไทย)ทยอยปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยในส่วนของบอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปีปรับสูงขึ้นแตะจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 2.05% สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 (สูงสุดในรอบ 2 ปี 8 เดือน) ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า บอนด์ยีลด์ไทยอายุ 10 ปียังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่องเหนือระดับ 2.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2564 และอาจทยอยสูงขึ้นอีกในปีหน้า มองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในจังหวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยเพิ่มประมาณ 9,050-10,800 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น