วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 ก.พ. 2564

 สรุปข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

คอมพ์-อุปกรณ์ขาดหนัก
ตลาดตื่นแห่ขุด 'บิตคอยน์' ชี้ตั้งตารอของหรือจ่ายแพง
รายงานข่าวจากแวดวงธุรกิจไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ชิ้นส่วน เช่น การ์ดจอ ซีพียู แรม ในบางยี่ห้อ บางรุ่น กำลังขาดแคลนอย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พีซี และโน้ตบุ๊ก รวมถึงผู้ที่ต้องการคอมพิวเตอร์สั่งประกอบหรือคอมพ์ ดี.ไอ.วาย ที่สามารถเลือกสเปกอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตามความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะกรณีสเปกเครื่องสูงๆ ทั้งความไว ทั้งหน่วยความจุ เช่น ใช้เล่นเกม ทำกราฟิก ไม่สามารถหาซื้อสินค้าได้เหมือนอดีต

อสังหาฯ ปีวัวยังอาการหนัก พิษโควิดไทยหมดกำลังซื้อ
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ปี 64 คาดว่ามีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยจะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 หน่วย ลดลง 1.5% จากปี 63 และมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงประมาณ 876,121 ล้านบาท ติดลบ 5.6% จากปี 63 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านจัดสรรลดลง 7.7% และคอนโดมิเนียม ลดลง 1.4% ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เนื่องจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อคนไทยยังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด ทำให้ประชาชนมีโอกาสหารายได้ลด ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่มีกำลังซื้อก็ได้เร่งซื้อไปตั้งแต่ปีที่แล้วหลังผู้ประกอบการมีการแข่งจัดโปรโมชั่นกันล่วงหน้า ขณะที่กำลังซื้อจากชาวต่างชาติปีนี้ก็ยังมีโอกาสถดถอยต่อจากปีที่แล้วที่ติดลบ 35% เช่นกัน เนื่องจากไทยยังคงมีการปิดประเทศ ไม่สามารถเดินทางไปมาหากันทำให้นักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติ ชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยลง นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยสำคัญ คือการปฏิเสธปล่อยกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีการเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อบ้านมาก จนทำให้สัดส่วนการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ ลดเหลือเพียงครึ่งเดียวของทั้งระบบ ส่วนที่เหลือจะเป็นการเร่งปล่อยกู้ของธนาคารรัฐ คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และออมสินเท่านั้น

หนทางรอดลูกหนี้ฝ่าวิกฤติ โจทย์ท้าทายธุรกิจแบงก์'64
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของคนไทยคือการมีหนี้ เห็นได้ชัดจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ลูกหนี้หลายคนได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติต่างๆ ทำให้การเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง กู้หนี้ยืมสินทั้งในระบบและนอกระบบ วนเวียนไม่รู้จบ และที่น่าตกใจกว่านั้น คือ เกิดพฤติกรรม "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" กันเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเสียประวัติการเงินแล้ว ยังต้องโดนฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ เสียบ้าน เสียทองหมดตัว

ออมสินเทหมื่นล.อุ้มท่องเที่ยว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และสาขาที่เกี่ยวเนื่อง ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอีมีที่ มีเงิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ในวันที่ 18 ก.พ.64 ผ่านทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th โดยจะเปิดต่อเนื่องถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านการเงิน เยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากต้องหยุดชะงัก เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดในระลอกที่สอง

ชงขายตั๋วเครื่องบินบุฟเฟ่ต์
หลังเที่ยวด้วยกันขายไม่ออก
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เตรียมนำเสนอมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลังจากได้รวบรวมความเห็นจากภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสายการบินแล้วเห็นว่า ปัจจุบันโครงการเราเที่ยวด้วยกันยังมีจำนวนตั๋วเครื่องบินเหลืออยู่มาก อาจนำตั๋วที่เหลือจากโครงการมาขายเป็นแบบบุฟเฟ่ต์โดยรัฐบาลจะอุดหนุนในอัตราคนละ 2,000 บาท เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้

'จีซี' บุก 3 กลยุทธ์เพิ่มกำไร ชี้เดินหน้าลงทุนสหรัฐต่อ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือจีซี เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานปี 64 ว่า ได้ดำเนินนโยบายแข็งแกร่งจากภายใน สร้างโอกาสใหม่ยุคนิวนอร์มัล เร่งเดินหน้าและยกระดับกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ กลยุทธ์การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน กลยุทธ์การแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ กลยุทธ์สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ

'กุลิศ' นัดถกใหญ่สนง.อีอีซี เคลียร์แผนผลิตไฟหวั่นป่วน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะประชุมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าและการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าในเขตพื้นที่ อีอีซี เนื่องจากโครงการต่างๆ ยังไม่ได้มีการกำหนดอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และต่อไปกระทรวงพลังงานจะนำมาบรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น